ทางออกของธุรกิจประกันหลังโควิด

25 เม.ย. 2563 | 03:20 น.

ระหว่างที่ทุกประเทศ เข้าสู่โหมด Lockdown หลายสำนักวิจัยทางเศรษฐกิจทั่วโลกต่างเผชิญโจทย์ยากต่อการประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เพราะไม่แน่ใจว่า สถานการณ์จะลากยาวแค่ไหน แต่ที่เห็นตรงกันคือ โควิดจะเป็นบททดสอบผู้กำหนดนโยบายระดับประเทศที่จะควบคุมด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจไม่ให้ถดถอยหรือลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการชะงักงันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่สำหรับครัวเรือน ธุรกิจประกันภัย จะเป็นกันชนหรือเครื่องมือบริหารความเสี่ยงได้หรือไม่

นายพิเชฐ เจียรมณีทวีสิน หรืออาจารย์ ทอมมี่ นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่าภาพรวมธุรกิจประกันภัยขณะนี้ ขึ้นกับบริษัทจะจับจังหวะบวกได้แค่ไหน และสามารถป้องกันปัจจัยลบได้เพียงไร เพราะมี 3 ปัจจัยบวกของธุรกิจประกันวินาศภัยและประกันชีวิตคือ โรคโควิดที่แพร่ระบาดสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนสนใจ ประกอบกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งบลูมเบิร์กประเมินว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุไทยที่มีอายุเกิน 60 ปี วิ่งเข้าสู่อันดับ 3 ของโลก และในอีก 15 ปีข้างหน้า (ปี2575) ประชากรไทย 1 ใน 4 หรือ 25 คนจาก 100 คนจะมีอายุเกิน 60 ปี และเรื่องค่ารักษาพยาบาลที่จะแพงมากขึ้น จนควักเงินจ่ายเองไม่ไหว เพราะจากสถิติของไทยนั้น ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8% ต่อปี เช่น ถ้าเป็นไข้หวัด 1 ครั้ง สมมติค่าต้นทุนค่ารักษาพยาบาลคือ 1,500 บาทในตอนนี้ แต่อีก 10 ปีข้างหน้า ต้นทุนค่ารักษาพยาบาลจะเพิ่มเป็น 3,000 บาท

ปีนี้โควิดเป็นปัจจัยเสริม มีทั้งด้านบวกและลบ ในเชิงบวกคือ ความตื่นตัวของลูกค้าซื้อประกัน แต่เชิงลบก็มี เพราะธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจที่รับเบี้ยเข้ามาก่อน จึงมีความเสี่ยงโดยตรงหลายมิติ เพราะโรคระบาดไม่ได้ใช้สถิติจำลองอนาคตอีกต่อไป แต่เกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอกมากที่จะเกิดข้อพิพาทขึ้นว่า คุ้มครองหรือไม่คุ้มครอง รวมถึงค่ายาหรืออัตราการตาย โดยเฉพาะบริษัทที่คุ้มครองถึง 12 เดือน ทั้งวิวัฒนาการของโควิดและทางการแพทย์ที่วิ่งตลอดเวลา

 

พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน

ปัจจัยเหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่ต้องเตรียมเงินหน้าตักและประเมินกรณีเลวร้ายที่สุด เพื่อบริหารจัดการการจ่ายเคลม ซึ่งต้องวางแผน Stop Loss ให้ได้แถมยังมีผลกระทบทั้งจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับลดเป็นขาลงอีกด้วย ขณะเดียวกันธุรกิจวินาศภัยปีนี้ มีแนวโน้มเติบโตจากเบี้ยประกันโควิด และยังได้ปัจจัยบวกจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือการหยุดทำงานที่บ้าน เพราะยอดเคลมสินไหมรถยนต์น้อย

 

สำหรับปัจจัยลบอันดับแรกคือ เงินลงทุน เพราะทั้งธุรกิจวินาศภัยและประกันชีวิตรับเงินมาก่อนแล้วให้เงินทำงาน โดยเฉพาะธุรกิจประกันชีวิตต้องสำรองเงินเพื่อจ่ายคืนผู้บริโภคในอนาคต ซึ่งส่วนใหญ่ลงทุนในพันธบัตร หรือหุ้นกู้ รวมเงินหมุนเวียนลงทุนราว 2.5 ล้านล้านบาท แต่ทุกวันนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับลดลงอย่างมาก เหลือแค่ 1.1-1.2% ซึ่งหากย้อนไป 20 ปี 10 ปี 5 ปีและ 3 ปีจะอยู่ที่ 10% 5% และ 3% ตามลำดับ

 

เงินหมุนเวียน 2.5 ล้านล้านบาท ลงทุนในพันธบัตรหรือหุ้นกู้ 80-90% ทำให้ต้องจับคู่ระหว่างเงินลงทุนในสินทรัพย์และหนี้สิน จึงเป็นทิศทางของประกันสะสมทรัพย์ให้เข้าสู่การทำตลาดประกันควบการลงทุนหรือยูนิตลิ้งค์

อย่างไรก็ตาม โจทย์หลักของนักคณิตศาสตร์ต่อมุมมองโควิดคือ การสื่อสารกับบริษัทประกันเตรียมความพร้อมเงินกองทุนและเงินสำหรับจ่ายคืนลูกค้า ขณะเดียวกันต้องคิดเผื่อปัจจัยวิวัฒนาการทั้งการระบาดของโควิด วิวัฒนาการด้านยา หรือทางการแพทย์ ทั้งหมดนี้ต้องทำโมเดลแตกต่างจากแบบจำลองทั่วไป ถึงวันนี้ลูกค้ายังไม่มีการเคลมมากนัก แต่หากต่อไปเกิดข้อพิพาทจะต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคต้องเชื่อมโยงเงื่อนไขเป็นตัวเลข

หน้าที่ของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยคือ ตอบโจทย์ผู้บริโภคทั้งคุ้มครองความเสี่ยงและเคลมง่ายเวลาเกิดเหตุไม่คาดฝัน และต้องป้องกันการหาประโยชน์เก็งกำไรจากกรมธรรม์ เวลาออกแบบประกันต้องป้องกันคนที่จะเข้ามาทุจริตเคลม เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์เต็มๆ เพราะหากปล่อยให้คนไม่ควรจะเคลมเข้ามาเคลมสินไหน จะทำให้ค่าเบี้ยเฉลี่ยโดยรวมแพงขึ้น ซึ่งการดีไซน์แบบประกันและกระบวนการต้องไม่เอื้อต่อการทุจริตเคลม เช่น ประกันเจอปุ๊บจ่ายปั๊บต้องตีเงื่อนไขเป็นตัวเลข ในทางปฏิบัติต้องมองภาพและป้องกันการทุจริตเคลม

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,568 วันที่ 23-25 เมษายน 2563