กบง.ตรึงราคาแอลพีจีเม.ย. ใช้เงินกองทุนอุ้ม 263ล้าน

08 เม.ย. 2559 | 05:00 น.
กบง.มีมติตรึงราคาก๊าซแอลพีจีเดือนเม.ย.นี้อยู่ที่ 20.29 บาทต่อกิโลกรัม แม้สวนทางกับราคาตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น กระทบต่อราคาหน้าโรงกลั่นพุ่ง ต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ 263 ล้านบาทต่อเดือน พยุงราคาไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภค พร้อมทั้งยกเลิกการชดเชยส่วนลดราคาก๊าซธรรมชาติ จากการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนอม

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ในฐานะโฆษกประจำกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา ได้มีมติตึงราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) ในเดือนเมษายน ไว้ที่ 20.29 บาทต่อกิโลกรัม แม้ว่าราคาแอลพีจีในตลาดโลกปรับขึ้น 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เทียบกับเดือนก่อนอยู่ที่ระดับ 302 ดอลลาร์สหรัฐตัน และอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นจากเดือนก่อน 0.36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่น ซึ่งเป็นต้นทุนเฉลี่ยของการจัดหาแอลพีจีปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.34 บาทต่อกิโลกรัม แต่ก็มีแนวโน้มว่าในช่วง 1-2 เดือนนี้ราคาแอลพีจีมีแนวโน้มอ่อนตัวลงตามราคาน้ำมันดิบ

ดังนั้น เพื่อไม่ให้การผันผวนของราคาแอลพีจีในตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกแอลพีจีในประเทศ ซึ่งจะเป็นภาระต่อผู้บริโภค ประกอบกับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของแอลพีจียังคงมีเสถียรภาพ จึงให้กองทุนน้ำมันฯ รับภาระชดเชยเพิ่มขึ้นอีก 0.34 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมชดเชย 0.36 บาทต่อกิโลกรัม เป็นกองทุนน้ำมันฯ ชดเชยอยู่ที่ 0.70 บาทต่อกิโลกรัม ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2559 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ผลจากการปรับเพิ่มอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของแอลพีจีมีรายจ่ายอยู่ที่ 263 ล้านบาทต่อเดือน โดยฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 3 เมษายน 2559 อยู่ที่ประมาณ 4.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นในส่วนของบัญชีก๊าซแอลพีจีอยู่ที่ 7.2 พันล้านบาท และในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านบาท

นายทวารัฐ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กบง.ยังมีมติยกเลิกการชดเชยส่วนลดราคาก๊าซธรรมชาติ จากการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนอม เนื่องจากในช่วงปี 2553 ปริมาณการใช้แอลพีจีในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องนำเข้าแอลพีจีจากต่างประเทศเข้ามา ประกอบกับราคาแอลพีจีตลาดโลกอยู่ในขณะนั้นอยู่ระดับสูงกว่า 680 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน รัฐจึงได้มีนโยบายเพิ่มปริมาณการจัดหาแอลพีจีในประเทศ โดยหนึ่งในมาตรการคือ การเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนอม เพื่อให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 4 (ขนอม) สามารถเดินเครื่องผลิตแอลพีจีได้เพิ่มขึ้น และให้กองทุนน้ำมันฯ รับภาระชดเชยส่วนลดราคาก๊าซธรรมชาติให้กับ กฟผ. จากการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าดังกล่าว เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน ทั้งนี้ ผลจากการดำเนินมาตรการฯ พบว่า สามารถประหยัดเงินชดเชยจากการนำเข้าแอลพีจีได้ถึง 1.1 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559 โรงไฟฟ้าทดแทนขนอม ชุดที่ 1 ที่สร้างขึ้นใหม่ในพื้นที่เดิม ขนาด 930 เมกะวัตต์ จะเริ่มทดสอบการทำงานทั้งระบบ ส่งผลให้สามารถเรียกปริมาณก๊าซธรรมชาติเพียงพอที่จะทำให้โรงแยกก๊าซขนอมสามารถเดินเครื่องผลิตแอลพีจีได้เอง ดังนั้น ที่ประชุม กบง. จึงเห็นชอบให้ยกเลิกชดเชยส่วนลดราคาก๊าซธรรมชาติ จากการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนอม ตั้งแต่วันที่เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (ซีโอดี) เป็นต้นไป โดยปัจจุบันโรงแยกฯขนอม ผลิตแอลพีจี 1.5-2 หมื่นตันต่อเดือน

ส่วนกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นฟ้องกระทรวงพลังงาน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และกระทรวงการคลัง เรียกคืนเงินแผ่นดิน 5.2 หมื่นล้าน กรณีไม่คืนท่อก๊าซและทรัพย์สิน รวมทั้งใช้สิทธิ์หาผลประโยชน์ในการใช้ที่ดินรัฐ ขณะนี้ทางกระทรวงพลังงานยังไม่รับหนังสืออย่างเป็นทางการจากทางผู้ตรวจฯ แต่ในระหว่างนี้ก็ได้ประสานไปยัง ปตท.เพื่อขอข้อมูล และยืนยันว่าที่ผ่านมาทางกระทรวงพลังงานและ ปตท. ได้ดำเนินการตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในการจัดคืนท่อก๊าซฯเรียบร้อยแล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,146 วันที่ 7 - 9 เมษายน พ.ศ. 2559