กฎหมาย ยันต์กันผี

21 เม.ย. 2563 | 12:30 น.

คอลัมน์ห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3568 ระหว่างวันที่ 23-25 เม.ย.63 โดย... พรานบุญ

 

          ตลาดตราสารหนี้ที่เงียบเชียบวังเวง กลับคึกคักขึ้นมาทันที หลังจากพระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2563 เพื่อเปิดทางให้ ธนาคารแห่งประเทศไทยที่รู้จักกันว่า (แบงก์ชาติ) แปลงสภาพจากนายธนาคารของรัฐบาล และนายธนาคารของสถาบันการเงิน ออกมาเล่นเป็นเจ้ามือเองในตลาดตราสารหนี้ในวงเงินไม่เกิน 400,000 ล้านบาท

          นังเก้ง นังกวาง นังบ่าง นังชะนี และอีเห็น พากันมานั่งหน้าสลอนใต้ร่มไม้ใหญ่ พร้อมตะโกนตั้งคำถามดังๆ ว่า แย่แล้วพ่อพรานเอ๋ย...รัฐบวมลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กู้ก้อนมหึมา พาเงินไปช่วยคนรวย เจ้าข้าเอร้ย!

          แปลกพิลึก!ความรู้สึกเช่นนี้กระจายวงกว้างไปยัง นกกระเต็น อีกา ยันพญาอินทรีย์ ที่โบยบินเร็วยิ่งกว่าโลกออนไลน์

 

          ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว การออกพ.ร.ก.ชุดนี้ “รัฐบาล-รัฐบวมลุงตู่” ไม่ได้กู้ หากแต่เป็นการเปิดทางให้อำนาจแบงก์ชาติเป็นผู้ดำเนินการในการ “ค้ำยัน” ตลาดทุน ที่มีการกู้เงินไปขยายกิจการของภาคธุรกิจ

          พูดง่ายๆ ว่า เปิดอำนาจให้แบงก์ชาติเข้าแทรกแซงตลาดตราสารหนี้ อาทิเช่น หุ้นกู้ ตั๋ว

          บีอี ตั๋วพีเอ็น ได้ หากเกิดการ “รัน” หรือการ “default” ที่จะกลายเป็น “การชักดาบ” ของภาคธุรกิจ ซึ่งจะกลายเป็นโดมิโนในตลาดเงิน ตลาดทุนของประเทศ

          และในอนาคตหากแบงก์ชาติเข้าไปจัดการแล้วเกิดความเสียหายอะไรขึ้นมา “รัฐบาล-กระทรวงการคลัง” จึงจะเข้าไปช่วยเหลือดูแลประมาณ 40,000 ล้านบาท อันนี้เขียนไว้ในมาตรา 20

          แต่เสียงร้องตะโกนก้อง รัฐบวมลุงตู่ ดีแต่กู้เงินไปอุ้มรายใหญ่ กระจายออกไปเร็วจนคนหวาดผวายิ่งกว่าไวรัสโควิด-19 เสียอีก...ลุงตู่ชี้แจงอย่างไรดูเหมือนผู้คนไม่เข้าอกเข้าใจ พาลว่าไปว่า รัฐบาลถังแตกเข้าไปอีก อกลุงจะแตกตาย!

          เพื่อให้สิงสาราสัตว์เข้าอก เข้าใจ พรานผู้ท่องไพรจนผมหงอกขาวเต็มหัวแล้ว ขออธิบายให้ลิง ค่าง นังบ่าง นังชะนี และอีเห็น เข้าใจคร่าวๆ ดังนี้

          การกู้ยืมเงินมาหมุนใช้ในระบบเศรษฐกิจ ผ่านตลาดเงิน ตลาดทุนในประเทศไทย แบ่งเป็น 4-5 ส่วน 1. ผ่านธนาคาร 2. ผ่านตลาดหุ้น 3. ผ่านตลาดตราสารหนี้และพันธบัตร 4. ผ่านการจัดตั้งกองทุน 5. ผ่านระบบแชร์และหนี้นอกระบบ

          ตลาดใหญ่ที่ถูกต้องและได้รับการยอมรับกันคือ กู้เงินแบงก์ การขายหุ้น การออกตราสารหนี้ที่ยอมจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่า 2 กลุ่มแรก

          ปัจจุบันตลาดตราสารหนี้ในไทยที่ออกขายกันในตลาดน่าจะตก 3.43 ล้านล้านบาท เป็นบริษัทชั้นดีเครดิตระดับ A ขึ้นไปราว 2.62 ล้านล้านบาท เครดิตระดับ BBB ขึ้นไป 5.6 แสนล้านบาท เครดิตระดับ BB- ตกประมาณ 8.6 หมื่นล้าน ตราสารที่ต่ำเตี้ยเป็นกลุ่มที่ไม่มีเครดิตประมาณ 1.65 แสนล้านบาท

          สถานการณ์ตลาดทุนในโลกตอนนี้เหมือนกันคือ กู้เงินยากขึ้นเพราะทุกคนกลัวความเสี่ยง ดังนั้นถ้าหากตราสารหนี้เหล่านี้ครบกำหนดชำระแล้วเกิดว่า ใครหาเงินมาจ่ายไม่ได้ก็จะกลายเป็นความตื่นตระหนกและจะลามไปถึงการขายหุ้น ขายตราสารทิ้ง และจะนำไปสู่การ “ชักดาบ”

          ปรากฏการณ์ชักดาบนี่แหละ ที่จะทำให้ตลาดเงินตลาดทุนพัง! ถึงตอนนั้นใครก็เอาไม่อยู่ เพราะ “คนไม่เชื่อ” ปัญหาการปิด 56 ไฟแนนซ์ในปี 2540 ก็มาจากเหตุนี้แหละครับ

          ไม่ช่วย ไม่พยุง ได้มั้ย คำตอบคือได้ แต่ตลาดเงิน ตลาดหุ้น ตลาดทุน พัง คนจะจนลงในพริบตา ภาคธุรกิจที่ทำงาน จ่ายภาษี จ้างคน ที่ไม่เกี่ยวกับใครก็จะโดนลูกหลงเหมือนกันหมด

          คราวนี้มาดูว่า แล้วที่รัฐบาลลุงตู่ออกกฎหมาย ให้อำนาจแบงก์ชาติกระโจนเป็นเจ้ามือนั้นเขาทำอย่างไร

          พรานฯสรุปให้เห็นดังนี้ มาตรา 7 ระบุว่า แบงก์ชาติต้องตั้งเป็นกองทุนรวมเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนใน “ตลาดตราสารหนี้” โดยมีเพื่อรักษาเสถียรภาพและสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้เอกชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19

 

          มาตรา 8 ให้กองทุนนี้ดำเนินการตามกฎหมายหลักทรัพย์ มีขนาดกองทุนเริ่มแรกไม่เกิน 400,000 ล้านบาท ในช่วงแรก ให้แบงก์ชาติเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนนี้แต่ผู้เดียว

          มาตรา 9 ให้มี “คณะกรรมการกำกับกองทุนฯ” โดยมี ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ ผู้ว่าแบงก์ชาติ เป็นรองประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 3 คน เป็นกรรมการ รวมมีแล้วไม่เกิน 7 คน

          มาตรา 10 คณะกรรมการกำกับกองทุนฯ มีอำนาจแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์เพื่อจัดการกองทุนนี้ หมายความว่า แบงก์ชาติไม่ได้ทำคนเดียวแต่จะจ้างบริษัทหลักทรัพย์มาบริหารกองทุนนี้ต่อได้

          มาตรา 12 ให้มีการตั้ง “คณะกรรมการลงทุน” โดยให้รองผู้ว่าแบงก์ชาติหนึ่งคน เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนจากสำนักบริหารหนี้สาธารณะ ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้เชี่ยวชาญอีกไม่เกิน 2 คน เป็นกรรมการ รวมแล้วไม่เกิน 5 คน

          คณะกรรมการลงทุนชุดนี้แหละที่มีอำนาจคัดเลือกตราสารหนี้ภาคเอกชนที่กองทุนจะลงทุนกำหนดไว้ในมาตรา 13

          คราวนี้จะลงทุนอะไร มาตรา 14 ระบุว่า ลักษณะตราสารหนี้ภาคเอกชนที่จะลงทุนได้ ต้องมีลักษณะดังนี้ (1) เป็นการออกใหม่เพื่อไถ่ถอนตราสารหนี้เดิมที่ครบกำหนด (2) ใช้แหล่งเงินทุนอื่นก่อนไม่น้อยกว่า 50% เว้นแต่ได้รับการผ่อนผัน (3) มี Credit Rating ระดับที่ลงทุนได้ (4) ผู้ออกตราสารหนี้ต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนไทย และไม่ใช่บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงิน

          ในระยะยาวเมื่อบริหารไปไม่ว่ากำไรขาดทุน กฎหมายให้อำนาจไว้ในมาตรา 17 ว่าแบงก์ชาติอาจขายหน่วยลงทุนให้แก่บุคคลอื่นต่อก็ได้

          และในมาตรา 19 ระบุว่า หากตลาดตราสารหนี้ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรงอันเนื่องมาจาก COVID-19 แบงก์ชาติอาจซื้อขายตราสารหนี้เอกชนในตลาดรองก็ได้ ไม่จำเป็นต้องจำกัดเฉพาะตราสารหนี้ออกใหม่

          มาตรา 20 เขียนไว้ชัดอีกว่า การดำเนินการของแบงก์ชาติตามกฎหมายนี้ หากมีกำไร ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน แต่หากขาดทุน ให้กระทรวงการคลังชดเชยคืนให้แบงก์ชาติในวงเงินไม่เกิน 40,000 ล้านบาท …แค่นี้แหละ ไม่เห็นว่ากู้เลย!

          พรานฯ จึงบอกว่า กฎหมายนี้เป็นเพียงแค่เปิดทางให้แบงก์ชาติเป็นเจ้ามือในตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้ เป็นการเขียนยันต์ไว้กันผี!