เมื่อเมียนมาต้องเผชิญภัย COVID-19

21 เม.ย. 2563 | 12:11 น.

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

อาทิตย์ที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงสภาวะการเตรียมทะยานสู่สากลของประเทศเมียนมา ในระยะก่อนที่เจ้าวายร้าย COVID19 เข้ามาสู่สังคมเมียนมา ซึ่งผมได้พยายามสื่อทางบทความหลายๆครั้งที่ผ่านมา ว่าปัจจุบันนี้เมียนมาเปลี่ยนไปแล้ว พยายามจะเชิญชวนผู้ประกอบการไทยให้เข้าไปดู และหาช่องทางการทำมาหากินกันที่ย่างกุ้ง

แม้จะใช้ทั้งกำลังทรัพย์ส่วนตัว ทั้งกำลังภายในด้านสายสัมพันธ์ต่างๆที่ผมได้สร้างมาร่วม 30 ปี ทั้งประสบการณ์ที่ผมได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมา ซึ่งมีทั้งเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ทุกรสชาติ มาเล่าเพื่อเป็นอุทาหรณ์หรือเป็นแนวทางให้เพื่อนๆนักธุรกิจไทย ผู้ที่จะเข้าไปทำธุรกิจในประเทศเมียนมา  จะได้ไม่ต้องเดินไปในช่องทางที่ผิดๆ หรือเสี่ยงที่จะเจ็บตัวฟรีครับ  

จนกระทั่งพอเจ้าวายร้ายCOVID19 เข้ามาสู่สังคมโลก ทุกอย่างก็พังคลื่นลงมา ดังปราสาททรายบนชายหาดทะเลถูกคลื่นซัด

แต่ผมก็ไม่ท้อแท้นะครับ รอมันผ่านไป แล้วค่อยว่ากันใหม่อีกครั้งครับ

ถือว่าสามสิบกว่าปีที่เข้ามาสู่วงการธุรกิจ ผมไม่เคยได้พักผ่อนเลย แทบจะทำงานหนักไม่มีเว้นวันเสาร์อาทิตย์ มาวันนี้หยุดพักอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ทำให้ทำตัวไม่ค่อยถูก แต่ก็ต้องทนกันต่อไปครับ อย่าเพิ่งถอดใจครับ

หลังจากรัฐบาลเมียนมาโดยการนำของท่านอ่อง ซาน ซูจีและประธานธิบดี อู วิน เมี่ยน ได้เข้ามาบริหารประเทศ และเร่งที่เดินสายไปดึงเอานักลงทุนจากทั่วทุกสารทิศเข้ามาสู่เมียนมา ในปีค.ศ.2018 ก็เริ่มลงมือเปลี่ยนแปลงกฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment Law) เพื่อรองรับกระแสคลื่นการลงทุนที่ถาโถมเข้ามาสู่ตลาดเมียนมา อีกทั้งมีการตระเตรียมนิคมอุตสากรรมต่างๆใว้รอรับเช่นกัน

รัฐบาลชุดนี้ ถือว่าทำงานหนักมาก ที่จะต้องฟื้นฟูประเทศเมียนมาที่เปรียบเสมือนเต่าจำศีลมานานเกือบ 70 ปี ทั้งๆที่ในอดีตประเทศพม่า(ชื่อเดิม)เป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ตลอดมา

จำได้ว่าสมัยผมเด็กๆ ท่านเลขาธิการสหประชาชาติที่มีคนเอเชียคนแรกดำรงค์ตำแหน่งนี้คือ ท่านอู ถั่น นั่นเอง พอรัฐบาลนี้เข้ามาฟื้นฟูประเทศ จึงออกนโยบายต่างๆออกมามากมาย ที่สำคัญยังออกแผนสร้างเมืองใหม่ย่างกุ้ง และจ้างสถาปนิกชาวสิงคโปร์เข้ามาออกแบบผังเมืองย่างกุ้งทั้งหมด 80 เมกกะโปรเจ็ค ซึ่งผมเองได้รับรู้และถ่ายทอดผ่านบทความมาตลอดครับ

ในเมืองย่างกุ้งเองน้อยคนนักที่จะเข้าใจว่าทางรัฐบาลเมียนมาทำอะไรกันอยู่ สังเกตุได้จากยุคต้นๆของรัฐบาลชุดนี้ ชาวบ้านจะออกมาบ่นกันมาก เพราะว่าทำงานไม่ทันใจประชาชน แต่พอเข้าสู่โหมดเร่งผลงาน เราจะเห็นว่าเสียงบ่นเริ่มค่อยๆจางหายไป ผลงานจะค่อยๆปรากฏออกมา เมืองย่างกุ้งก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงออกมารายวัน

เรียกว่าคนที่เคยไปเที่ยวเมืองย่างกุ้ง นานๆไปทีจะรู้ทันทีว่าเมืองย่างกุ้งเปลี่ยนไป เพื่อนผมที่เป็นเพื่อนนักเรียนชาวไต้หวัน ได้มาเที่ยวเมืองย่างกุ้งเมื่อประมาณต้นปี 2019 เขาบอกผมว่าจะทำอะไรต้องรีบทำแล้ว เพราะนี่คือการเปลี่ยนแปลงเหมือนที่เขาเคยประสบพบเจอในประเทศจีนมาก่อน ถ้ามัวช้ารับรองว่าจะต้องเสียใจเพราะเวลาลักษณะนี้ ไม่ใช่โอกาสเช่นนี้จะมีมาตลอดเวลา ประเทศหนึ่งอาจจะมีแค่ครั้งเดียวเท่านั้น

ต่อมาต้นปีนี้ พอเจ้าวายร้าย COVID19 เข้ามาสู่สังคมโลกอย่างที่เราทราบ ทุกประเทศโดนกันหมด มันจะไปไม่เลือกยากดีมีจน มันบุกหมด ผมเคยเล่าตลอดว่านี่คือวายร้ายระดับโลกไม่ใช่ธรรมดา ใครบ่นว่าวิกฤติต้มยำกุ้งรุนแรง หรือโรคระบาดต่างๆสองสามครั้ง แม้กระทั้งโรคอหิวาต์ยุคต้นยุครัตนโกสินทร์บุกกรุงเทพฯ ล้วนชิดซ้ายไปเลยครับ

 เพราะโรคร้ายในครั้งนี้มันยิ่งกว่าสงครามโลกสองครั้งเสียอีก เพราะสงครามรุกรานประเทศอื่นปัจจุบันนี้เขาไม่ต้องใช้อาวุธบุกประเทศต่างๆก็ได้แล้ว เขาเอาเศรษฐกิจบุกก็สามารถยึดประเทศได้แล้ว

แต่ครั้งนี้เจ้าวายร้าย COVID19 มันทำลายเศรษฐกิจของประเทศที่มันบุกซะราบเป็นหน้ากลองเลยครับ ดูง่ายๆที่ประเทศไทยเราเป็นไงบ้างละ ธุรกิจหลายๆธุรกิจต้องหยุดหมด คนทำงานต้องหยุดงานหมด คนที่ทำงานที่บ้าน (Work at Home) บ้างก็ได้รับเงินเดือนเต็ม บ้างก็ได้ครึ่งเดียว

ส่วนภาคบริการเช่นเสริมสวย ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ปิดหมด เงินเดือนละได้ครบหรือเปล่า บ้านต้องเช่าข้าวต้องซื้อ ส่วนเงินทองที่จะต้องใช้จ่ายมาจากไหนละครับ ใครบอกว่าจะรอรัฐบาลมาช่วย เงิน 5,000 พอยาไส้หรือเปล่าละครับ

ตอนนี้ไปที่ไหนก็มีแต่เสียงบ่น ผมไม่ได้เข้าข้างใครนะครับ คิดแต่เพียงว่าใครมาเป็นรัฐบาลในยุคนี้ต้องบอกว่า โ ค ต ร .......เลยครับ แก้ยังไงก็ยาก เพราะเราจะทำให้คนที่กำลังจะล่มจมพอใจได้นี่ ยากแสนยากนะครับ

อาทิตย์หน้าผมจะพาไปพยากรณ์เศรษฐกิจมหภาคในอนาคตของเมียนมาหลังเจ้าวายร้ายจากไปนะครับ ติดตามตอนต่อไปครับ