อย. ยืนยัน ยารักษาโรคเรื้อรังเพียงพอ

21 เม.ย. 2563 | 11:02 น.

อย.จับมือ เครือข่ายยา ทั้งสภาเภสัชกรรม - ผู้ประกอบการด้านยา - องค์การเภสัชกรรม - ผู้แทนจากโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลชุมชนทุกระดับ รวมทั้งกรมบัญชีกลางและสำนักงบประมาณ ร่วมถกหาแนวทางป้องกันปัญหายาโรคเรื้อรังขาดแคลน พร้อมวอนขอประชาชนจงมั่นใจ โรงพยาบาลทุกแห่งมียาเพียงพอ

 

เมื่อวันที่ 20 เม.ย.63  นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ภายหลังประชุมการบริหารจัดการวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ยาสำหรับโรคเรื้อรังในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ร่วมกับเครือข่ายด้านยา พบว่า ในช่วงที่ผ่านมา โรงพยาบาลมียอดการจ่ายยาให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังสูงกว่าปกติ 2-3 เท่า

 
ส่วนหนึ่งมาจากการจ่ายยาโรคเรื้อรังในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ให้ผู้ป่วยคราวละสามถึงหกเดือน ประกอบกับมาตรการปิดประเทศของบางประเทศที่ผลิตวัตถุดิบและยาสำเร็จรูป เช่น จีน อินเดีย และยุโรป ส่งผลให้การจัดส่งทั้งวัตถุดิบและยาสำเร็จรูปเกิดความล่าช้า อาจก่อให้เกิดการขาดแคลนยาเหล่านี้ในอนาคต เช่น ยาแอมโลดิพีนสำหรับลดความดันโลหิตสูง ,ยาเมทฟอร์มินสำหรับลดน้ำตาลในเลือด และยาซิมวาสแตตินสำหรับลดไขมันในเลือด
อย. ยืนยัน ยารักษาโรคเรื้อรังเพียงพอ

 

"เรามีการประชุมพูดคุย เบื้องต้นองค์การเภสัชกรรมเสนอเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีก 50 % เพื่อให้โรงพยาบาลมั่นใจได้ว่าจะได้รับยาทันตามยอดการสั่งซื้อ  นอกจากนี้ ผู้ประกอบการภาคเอกชน นำโดยสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน ได้ขานรับนโยบายรัฐ พร้อมเสริมกำลังการผลิตยาโรคเรื้อรังให้เพียงพอต่อการสั่งซื้อของโรงพยาบาลเพื่อให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงยาได้อย่างแท้จริง "

อย. ยืนยัน ยารักษาโรคเรื้อรังเพียงพอ

นายแพทย์ไพศาล กล่าวเพิ่มเติมว่า   เพื่อให้การกระจายยาได้เพียงพอและสอดคล้องกับการใช้ยาของโรงพยาบาลทั่วประเทศจึงให้กองบริหารการสาธารณสุข (กบรส.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำรวจยอดการสั่งซื้อยาของแต่ละโรงพยาบาลรัฐและวางแผนการจัดซื้อยาร่วมกับองค์การเภสัชกรรม และให้แต่ละโรงพยาบาลพิจารณาบริหารจัดการจ่ายยาแก่ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง คราวละ 2 เดือนหรือตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ในช่วงดังกล่าว
 

 

และเพื่อให้มียาเพียงพอสำหรับการใช้ในโรงพยาบาลในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 หน่วยงานของรัฐจำเป็นต้องจัดซื้อยาจากผู้ผลิตยารายอื่น ๆ ด้วย  ดังนั้นที่ประชุมจึงให้หารือกรมบัญชีกลางในการผ่อนปรนกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ. 2563 หมวด 5 ข้อ 17 เป็นการชั่วคราว 

 

"สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาขอให้ประชาชนมั่นใจต่อระบบบริหารจัดการวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ยาของกระทรวงสาธารณสุขในปัจจุบัน ว่ามีความพร้อมรองรับการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และจะไม่มีปัญหาการขาดแคลนยาโรคเรื้อรังอย่างแน่นอน"