จับเทรนด์ ธุรกิจ-ชีวิต-ซัพพลายเชนโลก พลิกโฉมครั้งใหญ่

24 เม.ย. 2563 | 07:50 น.

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ธุรกิจ สังคม การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว โลจิสติกส์ และด้านอื่นๆ ของไทยและทั่วโลกยังอยู่ในภาวะชะงักงัน และยังไม่มีทีท่าจะสงบลงได้ในเร็ววันหากการคิดค้นยาหรือวัคซีนป้องกันที่ได้ผลยังไม่มีออกมาให้เห็นและสร้างความมั่นใจได้ ทุกสำนักพยากรณ์ทั้งในและต่างประเทศออกมาฟันธงเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกปีนี้จะติดลบ ขณะที่หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายจะเกิดมาตรฐานใหม่(New Normal) การใช้ชีวิตของคนไทย รวมถึงภาคธุรกิจจะปรับเปลี่ยนไปครั้งใหญ่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

-ธุรกิจ-ชีวิตเปลี่ยน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสายงานส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรม เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อุตสาหกรรมดาวรุ่งหลังโควิด-19 อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต(S-Curve) ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อน ซึ่งจะมีความจำเป็นในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นทุกขณะ เช่น ดิจิทัล ไอที IoT (Internet of Things) ที่โลกและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ด้วยอินเตอร์เน็ต ขณะที่ประเทศไทยกำลังจะมีเทคโนโลยี 5G (ระบบการสื่อสารแบบไร้สายในยุคที่ 5 ซึ่งมีความสามารถในการส่งข้อมูลในปริมาณที่มากกว่าและเร็วกว่าระบบ 4G ถึง 1,000 เท่า) จะพลิกโฉมหน้าประเทศไทยให้เปลี่ยนแปลงอีกมาก

 

 จับเทรนด์  ธุรกิจ-ชีวิต-ซัพพลายเชนโลก  พลิกโฉมครั้งใหญ่

 

“หลังโควิดคลี่คลายระบบอุตสาหกรรมและการดำเนินชีวิตของคนไทยจะเปลี่ยนไป โดยอุตสาหกรรมดาวรุ่งมีอนาคตจะเป็นอุตสาหกรรม S-Curve ทั้งหลาย จากคน Work From Home ได้ ประชุมคอนเฟอเรนซ์สั่งการได้ทั้งในและต่างประเทศ และไทยกำลังจะติดตั้ง 5G จะพลิกโฉมประเทศไทย จากนี้ผู้ใช้จะตื่นตัวมากขึ้น เพราะจากประสบการณ์ช่วงโควิดได้เห็นถึงความจำเป็นถึงการใช้เทคโนโลยีว่าทำให้ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น และเริ่มเคยชินกับการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน”

 

-ออฟฟิศลดเช่าพื้นที่

ต่อมาคือการจัดประชุมที่มีคนไปร่วมในสถานที่เดียวกันมากๆ จะลดลง รวมถึงงานแสดงสินค้าก็อาจจะลดลง จากการเดินทางของนักธุรกิจทั้งในและต่างประเทศจะลดลง แต่ไปจัดในรูปงานคอนเฟอเรนซ์ หรือจัดแสดงสินค้าผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ซึ่งได้เห็นแล้ว เช่น งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติได้จัดในรูปแบบ อี-เอ็กซิบิชั่น เพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ป้องกันการติดเชื้อโรค ธุรกิจบริการร้านอาหารต่อไปจะมีการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการ มีการจัดสถานที่โดยเว้นระยะห่างของโต๊ะ และระยะห่างของผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น จำนวนโต๊ะที่นั่งจะลดลง ก่อนเข้าร้านทั้งพนักงานและผู้ใช้บริการต้องตรวจวัดไข้ มีเจลล้างมือ หรือแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อไว้ให้บริการ

 

ส่วนพนักงานออฟฟิศ การเช่าตึกสำนักงานต่อไปอาจใช้พื้นที่ไม่มาก อาจลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง เนื่องจากสามารถทำงานจากบ้านหรือ Work From Home ได้ รวมถึงวิถีชีวิตของผู้คนในเรื่องที่พักอาศัยจะเปลี่ยนไป เช่น ก่อนหน้านี้มักไปซื้อที่พักอาศัยอยู่ชานเมืองต้องใช้เวลาเดินทางเข้ามาทำงานในเมืองมาก เปลี่ยนเป็นต้องมาซื้อคอนโดมิเนียมเป็นที่พักอาศัย โดยส่วนใหญ่อยู่ในแนวรถไฟฟ้า ส่งผลให้ราคาคอนโดมิเนียมปรับเพิ่มขึ้นทุกปี แต่จากนี้ไปคนทำงานสามารถทำงานที่บ้านได้ หรือใช้เทคโนโลยีในการติดส่อสารได้สะดวกขึ้นและเริ่มมีความเคยชิน หรือนักเรียน นักศึกษา สามารถเรียนทางไกล หรือผ่านระบบออนไลน์ได้ จะทำให้คนกลับไปอยู่บ้านมากขึ้น ไม่ต้องอยู่คอนโดฯ อาจทำให้ความต้องการคอนโดฯ ในเมืองลดลง

 จับเทรนด์  ธุรกิจ-ชีวิต-ซัพพลายเชนโลก  พลิกโฉมครั้งใหญ่

-ดีลิเวอรีเฟื่องฟู

“ในส่วนของธุรกิจดีลิเวอรีรับส่งอาหาร ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีสัดส่วน 10% ของยอดขายร้านอาหาร จากคนนิยมทานอาหารนอกบ้าน แต่เมื่อโควิดหายไปคนจะเริ่มชินกับการสั่งซื้ออาหารดีลิเวอรี หรือจากร้านอาหารทั่วไปไปทานที่บ้านมากขึ้น ซึ่งร้านอาหารที่ปิดไปในช่วงโควิด เมื่อกลับมาจะมียอดขายผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น และจะมีความชำนาญในการรับออร์เดอร์ผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น ไม่ต้องเสียค่าเช่าพื้นที่ร้านแพงๆ ในห้างฯเหมือนเมื่อก่อน แต่สามารถใช้ครัวกลางที่ไหนก็ได้ในการรับออร์เดอร์ ขณะที่วิถีชีวิตของผู้คนทั่วไปหลังโควิดจะลด หรืองดการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ที่มีผู้คนจำนวนมากมากขึ้นเพื่อความปลอดภัยจากเชื้อโรค”

 

ที่สำคัญในส่วนของภาคผลิตและส่งออก ห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) ของโลก ซึ่งได้มีการโยกย้ายหรือเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ไปแล้วครั้งหนึ่งช่วงสงครามการค้าใน 1-2 ปีที่ผ่านมา อาจมีการโยกย้ายครั้งใหญ่ในรอบที่ 2 จากผลพวงจากโควิดที่แต่ละประเทศได้รับผลกระทบ และมีการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตจากภายในเพื่อช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น เห็นได้จากช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ประเทศใหญ่อย่างสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศในยุโรปที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมากไม่สามารถผลิตหน้ากากอนามัย ชุด PPE เครื่องช่วยหายใจ ยา เวชภัณฑ์ รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ได้เองอย่างเพียงพอ ต้องพึ่งนำเข้า ซึ่งหลังโควิดอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในการปรับเปลี่ยนเพื่อผลิตสินค้าเองมากขึ้น หรือมีวางแผนด้านซัพพลายเชนครั้งใหญ่ จากแต่ละประเทศได้รับบทเรียนราคาแพงจากโควิด-19 ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใดนั้นต้องจับตามองอย่างไม่กะพริบตา


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 8 ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,568 วันที่ 23 - 25 เมษายน พ.ศ. 2563

 จับเทรนด์  ธุรกิจ-ชีวิต-ซัพพลายเชนโลก  พลิกโฉมครั้งใหญ่