สภาผู้ส่งออกแนะ 5 คาถาฝ่าวิกฤติ ขายผ่านอี-คอมเมิร์ซ-ลดกำลังผลิต

21 เม.ย. 2563 | 06:10 น.

สภาหอฯเปิดโผสินค้ารุ่ง-ร่วง ส่งออกไป 2 ตลาดใหญ่สหรัฐฯ-ยุโรปช่วงโควิดระบาดหนัก สรท.ชี้ยังมีอุปสรรคเพียบ แนะ 5 คาถาผู้ประกอบการฝ่าวิกฤติ ประคองธุรกิจให้อยู่รอด

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อแล้วในเวลานี้เกือบ 2 ล้านคน (ณ วันที่ 15 เม.ย.63) ในจำนวนนี้เสียชีวิตแล้วกว่า 1.25  แสนคน โดยสหรัฐอเมริกามีผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิตมากสุด ตามด้วยภูมิภาคยุโรป ขณะที่โควิด-19 เป็นปัจจัยเสี่ยงมากสุดในเวลานี้ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก ซึ่งท่ามกลางวิกฤตินี้ส่งผลกระทบต่อหลายสินค้าไทยส่งออกหดตัวลง แต่อีกด้านเป็นโอกาสของหลายสินค้าที่ 2 ตลาดใหญ่ข้างต้นมีความต้องการเพิ่มขึ้น 

นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  สินค้าที่ได้รับผลเชิงบวกจากโควิด-19 ได้แก่ กลุ่มสินค้าอาหารทุกชนิด และสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น กระดาษทิชชู ยาสีฟัน สบู่ ยาสระผม แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ หน้ากาก N95 ที่ใช้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เช่น หมวก  แว่นตา หน้ากาก ถุงมือ   ที่อุดหู ไปจนถึงรองเท้า ทั้งหมดที่ใช้ในการดูแลคนไข้  เครื่องมือทางการแพทย์ เช่น ยา โดยเฉพาะยา AVIGAN , Favipiravir เครื่องช่วยหายใจ ฯลฯ

 

ส่วนกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลเชิงลบเป็นสินค้าที่ใช้ในการเข้าสังคม ไม่มีความต้องการ เพราะคนส่วนใหญ่กักตัวเองอยู่แต่ในบ้าน สินค้าฟุ่มเฟือย เสื้อผ้าแฟชั่น เครื่องนุ่งห่มแฟชั่น อัญมณี รถยนต์ อะไหล่รถยนต์ ฯลฯ

สภาผู้ส่งออกแนะ 5 คาถาฝ่าวิกฤติ  ขายผ่านอี-คอมเมิร์ซ-ลดกำลังผลิต

ขณะที่นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า แม้ในวิกฤติจะมีโอกาสสำหรับหลายสินค้าไทยข้างต้น แต่การส่งออกเวลานี้ก็ยังมีปัญหาอุปสรรคในหลายเรื่อง เช่น ห่วงโซ่การผลิตของโลกขาดตอน จากการค้าระหว่างประเทศที่หยุดชะงัก, ผู้ส่งออกเอสเอ็มอีไทยขาดสภาพคล่องบางส่วนปิดกิจการ, การปิดเมืองในหลายประเทศ ทำให้การเคลียร์สินค้าปลายทางล่าช้า, โรงงานในจีนยังผลิตไม่เต็มศักยภาพทำให้ผู้ประกอบการไทยขาดแคลนวัตถุดิบ, สายการบินหยุดให้บริการกระทบการขนส่งสินค้าทางอากาศ รวมถึงปริมาณขนส่งสินค้าลดลงทำให้สายเรือลดเที่ยวเรือ และลดความถี่ในการให้บริการ ทำให้เกิดความล่าช้า เป็นต้น

 

วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา

                                              

สำหรับคำแนะนำผู้ส่งออกไทยเพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอด มีดังนี้ 1. คงคุณภาพสินค้าโดยเฉพาะกลุ่มอาหารของไทยเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศอย่างมาก เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสส่งออกเพิ่มขึ้น 2. เพิ่มช่องทางการขายสินค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซ รวมถึงขยายตลาดส่งออกในรูปแบบออนไลน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงเก็บตัวอยู่ในที่พักอาศัย 3. ควรเร่งกระจายสินค้าออกยังไปยังตลาดรองหรือประเทศเพื่อนบ้าน ทดแทนตลาดหลัก และอาจต้องยอมขายสินค้าในราคาต่ำกว่าที่ตั้งเป้าไว้ เพื่อลดต้นทุนในการถือครองสินค้า 

4. เข้าร่วมโปรแกรมการช่วยเหลือจากภาครัฐ เน้นปรับปรุงเครื่องจักร บุคลากร เพื่อยกยกระดับผลิตภาพการผลิตของธุรกิจให้ดีขึ้น และ 5. โรงงานอาจต้องมีการปรับลดกำลังการผลิตลงบางส่วน หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดแทน เช่นถุงพลาสติก อาจปรับเปลี่ยนเป็นการผลิตถุงมือทางการแพทย์ เป็นต้น

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,567 วันที่ 19 - 22 เมษายน พ.ศ. 2563