ปลุก ส.ส.ลงพื้นที่ ฟังปัญหาปชช. เสนอสภาพ.ค.นี้

21 เม.ย. 2563 | 04:10 น.

“ดร.กนก” ปลุก ส.ส.ลงพื้นที่ สะท้อนปัญหาประชาชน เตรียมเสนอสภาปลาย พ.ค. ชี้ 4 ทางออกร่วมกู้วิกฤติ

ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน

 

ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เขียนบทความที่มีชื่อว่า “โควิด 19 กับบทบาท ส.ส. ต่อความเชื่อมั่นของประชาชน” เพื่อหวังให้ ส.ส. เตรียมความพร้อมในการใช้กลไกรัฐสภา เสนอความคิดและสะท้อนความเดือดร้อนของประชาชน ต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 และผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจที่ได้เกิดขึ้น โดยได้เสนอแนะใน 4 ประเด็น คือ  

 

1.รับฟังปัญหาความเดือดร้อน และวิธีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ผ่านการรับ
ฟังเสียงจากประชาชนจากการลงพื้นที่ (ช่วยเหลือประชาชน) การรับข้อร้องเรียนทางสังคมออนไลน์ในกลุ่มที่สังกัด และมีความสนใจเฉพาะ (การเมือง ธุรกิจ และสันทนาการต่างๆ) 

 

รวบรวมประเด็นของชาวบ้านต่อปัญหาที่กระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา เช่น  มาตรการความช่วยเหลือของรัฐบาลต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด 19 (แจกเงิน 5,000 บาท การปิดเมือง และการรักษาพยาบาล เป็นต้น) พรก.ฉุกเฉิน พรก.กู้เงิน ไปจนถึงแนวทางและวิธีการพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด 19

 

2. รวบรวมประเด็นที่ได้รับฟัง และนำความคิดเห็นเหล่านั้น รวมไปถึงข้อมูลจริงในพื้นที่ของประชาชน มาประมวลให้เป็นกลุ่มของปัญหาและผลกระทบ จากนั้นก็พิจารณาข้อเสนอในการแก้ปัญหาเบื้องต้น และระยะยาวอย่างเป็นระบบอย่างไร ด้วยกลไกในรูปแบบไหน ตามแต่ที่เห็นสมควร

 

 เพื่อเตรียมพร้อมข้อมูลในการอภิปรายผ่านระบบของสภาผู้แทนราษฎรในการสะท้อนเสียงของประชาชนและเสนอแนะแนวทางดำเนินการต่อรัฐบาลต่อไป (คาดว่าสภาจะเปิดในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม)

 ปลุก ส.ส.ลงพื้นที่ ฟังปัญหาปชช. เสนอสภาพ.ค.นี้

 

3. การศึกษาข้อมูลในพื้นที่มาอย่างดี จากบริบทจริงของประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน พร้อมแนวคิดในการร่วมหาทางออกจากวิกฤตในด้านต่างๆ ครั้งนี้ของ ส.ส. จะเป็นการระดมมันสมองในการแก้ปัญหา และหารือในข้อเรียกร้องของประชาชนผ่านตัวแทนของพวกเขา ซึ่งน่าจะทำให้มองเห็นภาพของปัญหาและทางออกที่ชัดเจนมากขึ้น

 

 ที่สำคัญ นี่คือบทพิสูจน์ระบบของรัฐสภาว่า รูปแบบของตัวแทนในแต่ละพื้นที่จะสามารถเชื่อมโยงกับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่  

 

และ 4. เมื่อกลไกลของ ส.ส. ทำงาน ระบบรัฐสภาเดินเครื่อง นายกรัฐมนตรีจะได้รับข้อมูลอีกหนึ่งชุดเพิ่มเติมขึ้นมา เป็นข้อมูลที่มีรูปแบบจากล่างขึ้นบน หรือแนวดิ่ง จากฐานขยับขึ้นสู่ยอด เพื่อนำไปเทียบเคียงกับข้อมูลชุดก่อนหน้านี้ที่นำมาใช้ในการปฏิบัติงานเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัส และการเยียวยาผลกระทบของประชาชน ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

 

น่าจะเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจสำหรับการบริหารจัดการในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และอาจต่อยอดไปถึงการวางแผนฟื้นฟูประเทศที่อาจจะครบถ้วนทุกมิติ และมีความครอบคลุมในแต่ละระบบมากกว่าเดิม”

ในตอนท้ายของบทความ อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีท่านนี้ ยังได้เน้นย้ำถึง หน้าที่ของ ส.ส. ว่า “การรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน รับทราบถึงความคาดหวังของชาวบ้านต่อแนวทางหรือมาตรการของรัฐบาล และรับรู้ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของประชาชน ที่มาจากเสียงของประชาชนโดยตรง 

 

แล้วทำหน้าที่ส่งผ่านสิ่งเหล่านั้นไปยังผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศ เพื่อเป็นส่วนประกอบในการตัดสินใจใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการบริหารราชการแผ่นดิน ตรงนี้คือความสวยงามในระบอบประชาธิปไตย และเป็นเกียรติภูมิอันสำคัญของความเป็นผู้แทนราษฎรที่ต้องรักษาเอาไว้เพื่อประชาชน”