SCN วางแผนเข้มลดต้นทุน เดินหน้าต่อธุรกิจ

20 เม.ย. 2563 | 09:31 น.

SCN วางแผนเข้มลดต้นทุน เร่งเตรียมมาตรการรับมือ ปรับกลยุทธ์เล็งเดินหน้าต่อธุรกิจ หลังอุตสาหกรรม NGV ชะลอตัว เผยยังมี 3 ธุรกิจที่สร้างรายได้ดี ทั้งธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบูที่เมียนมา ธุรกิจติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ และธุรกิจยานยนต์

ดร.ฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ทวีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในหลายภาคธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม บริษัทฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งเตรียมมาตรการ เพื่อรับมือกับวิกฤติดังกล่าวอย่างเข้มข้น โดยบริษัทฯ ได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อลดต้นทุนในส่วนต่างๆ ลง และคาดว่าในปีนี้บริษัทฯ จะลดค่าใช้จ่ายในด้าน SG&A (ค่าใช้จ่ายในการขาย และ ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ) ได้เป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา 

ในขณะที่ส่วนธุรกิจพลังงานทดแทนที่ได้ลงทุนไปในหลายปีที่ผ่านมา อย่างธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ประเทศพม่า, โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บางภาษี และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ วี.โอ.เน็ต รวมถึงธุรกิจติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อปที่เริ่มดำเนินการเมื่อปีก่อน ยังคงเติบโตได้ตามแผนโดยไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 

ด้านธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติ บริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรม NGV ในประเทศไทย ที่ภาครัฐมีการส่งเสริมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง B20 บวกกันการบริโภคที่น้อยลงจากสถานการณ์ Covid ทำให้ปริมาณการใช้ก๊าซ NGV ลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี ด้วยการกำหนดแนวทางการบริการจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยลดผลกระทบดังกล่าวและทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้

สำหรับธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบูที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ที่ปัจจุบันได้เริ่มเฟส 1 จำนวน 50 เมกะวัตต์ (MW)  อย่างเป็นทางการไปแล้วนั้น ทางบริษัทฯ มองว่าจะมีการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทฯ ได้มีการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มเติม 10% ในช่วงปลายปี 2562 ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทฯถือหุ้นรวมในโครงการดังกล่าวเท่ากับ 40%  อีกทั้งโครงการยังได้รับผลประโยชน์จากราคาค่าแผงโซลาเซลล์ที่มีการปรับตัวลดลง ทำให้ต้นทุนในการก่อสร้างลดลงประมาณ 15-20% จากปีก่อนหน้า รวมไปถึงอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงทำให้ต้นทุนโดยรวมลดลงตามไปด้วย

ในส่วนของธุรกิจติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) ที่บริษัทฯ เข้าไปถือหุ้นในบริษัทย่อย สแกน แอดวานซ์ พาวเวอร์ จำกัด (SAP) ยังคงดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยได้เดินหน้าติดตั้งแผงโซลาร์ผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟ ทั้งนี้ SAP ยังคงได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าและมีความต้องการในการติดตั้งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าภายในเดือนเมษายนนี้จะทยอยเปิดผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ถึง 1.7 MW จากสัญญาที่เซ็นไปแล้วคิดเป็นกำลังการผลิตรวมทั้งหมดกว่า 10 MW
 

อีกทั้งด้านธุรกิจยานยนต์ บริษัทฯ ยังคงมีรายได้จากสัญญารับเหมาซ่อมแซมและบำรุงรักษารถโดยสารปรับอากาศ NGV จำนวน 489 คัน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปี โดยบริษัทฯ มองว่าการรับรู้รายได้จากส่วนงานที่ลงทุนไปแล้วทั้งสามส่วนที่กล่าวในข้างต้น จะมีส่วนช่วยอย่างมากต่อผลประกอบการโดยรวมของบริษัทฯ

ในสถานการณ์ที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายของภาครัฐ บริษัทฯ ได้เตรียมพร้อมด้านอุปกรณ์ป้องกันการระบาดของไวรัสโควิดไว้ให้พนักงาน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าทุกคนอยู่ในสภาพการทำงานที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อโรค อีกทั้งมีมาตรการในการปรับขั้นตอนและจำนวนผู้ทำงานให้เหมาะสมเพื่อให้เกิดระยะห่างทางสังคม โดยปรับโยกพนักงานทางด้านออฟฟิศบางส่วนให้ไปทำงานที่บ้าน (Work From Home) 

นอกจากนี้ ยังงดรับนัดหมายประชุมและพบปะโดยตรงกับบุคคลภายนอก โดยให้มีการประชุมผ่านเทคโนโลยีโดยใช้แอพพลิเคชั่นต่าง ๆ แทนเพื่อป้องกันความเสี่ยงและปกป้องสวัสดิภาพของพนักงานจากวิกฤตการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19  ด้วยมาตรการที่เข้มงวดควบคู่กับวางแผนการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยลดผลกระทบจากวิกฤติดังกล่าวได้ ทั้งยังสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่พนักงานและกลุ่ม
คู่ค้าได้เป็นอย่างดี และส่งผลให้การดำเนินงานของบริษัทฯ เป็นไปอย่างราบรื่น