“อาหาร-สุขภาพ” เทรนด์ใหม่ผลิตกำลังคน หลังพ้นโควิด

20 เม.ย. 2563 | 06:49 น.

“สุวิทย์” มอบ สอวช.หารือเอกชน ปรับแผนรูปแบบตำแหน่งงานใหม่มุ่งความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งอาหาร และสุขภาพ

ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์

 

การประชุมคณะกรรมการ ของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเผยผลสำรวจความต้องการบุคลากรทักษะสูงในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2563 - 2567) และแนวทางการผลิตและพัฒนากำลังคน โดยเป็นการสำรวจก่อนเกิดวิกฤตโควิด

 

 โดยสรุปความต้องการบุคลากรในอุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวน 12 อุตสาหกรรม ซึ่งประกอบด้วย อุตสาหกรรมเชื้อเพลงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 

 

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มผู้มีรายได้สูงและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมพัฒนาบุคลากรและการศึกษา มีความต้องการบุคลากรรวม 317,946 คน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก 

 

 “อาหาร-สุขภาพ” เทรนด์ใหม่ผลิตกำลังคน หลังพ้นโควิด

 

ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์  รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า ข้อมูลที่ สอวช. ทำการสำรวจความต้องการบุคลากรทักษะสูงในอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นข้อมูลที่ดี และถือเป็นแผนการพัฒนากำลังคนแผนแรกของประเทศที่มีการจัดทำขึ้น ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่จะเป็นแนวทางการพัฒนากำลังคนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ในช่วงสถานการณ์ปกติ 

 

แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในปัจจุบันทำให้ต้องกลับมาทบทวนบริบทโลกที่ส่งผลกระทบถึงการลงทุนจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มที่จะดึงการลงทุนในประเทศต่างๆ กลับสู่ประเทศของตนเอง 

 

คาดว่าหลายๆ ประเทศจะเน้นเรื่องเศรษฐกิจฐานราก หรือ Local Economy มากขึ้น ซึ่งจะกระทบความต้องการกำลังคนอย่างแน่นอน  ประเทศไทยจึงต้องหันมาพิจารณารูปแบบตำแหน่งงาน และการพัฒนากำลังคนที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์โลกที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์โควิด 

 

 “อาหาร-สุขภาพ” เทรนด์ใหม่ผลิตกำลังคน หลังพ้นโควิด

 

“หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด คาดว่าตำแหน่งงานจะไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติของการตลาด แต่ต้องมีการสร้างงานให้เกิดขึ้นโดยแรงผลักดันของรัฐบาลที่เป็นบิ๊กแบงโปรเจ็ค ซึ่งกระทรวง อว. เองจะต้องสร้างบัณฑิตให้ตอบโจทย์และรองรับกับตำแหน่งงานที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ และเรื่องการ Reskill ยังคงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อสร้างกำลังคนให้ตอบโจทย์ได้ทันต่อบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

 

 สิ่งที่ควรเร่งทำตอนนี้คือ ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันสร้างตำแหน่งงานขึ้นมาเพื่อรองรับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยคาดว่ากลุ่มงานที่สำคัญในช่วงหลังสถานการณ์โควิดที่ภาครัฐควรผลักดันมีอยู่ 3 ด้าน คือ ด้านความมั่นคงทางสุขภาพ, ความมั่นคงทางด้านอาหาร และความมั่นคงทางอาชีพ โดยโครงสร้างทางเศรษฐกิจอาจจะต้องเน้นเศรษฐกิจฐานรากมากยิ่งขึ้น 

 

ได้มอบหมายให้ สอวช. หารือกับภาคเอกชน นักเศรษฐศาสตร์ รวมถึง บีโอไอ เพื่อคาดการณ์และวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจ แนวโน้มการลงทุน และการจ้างงาน เป็นฉากทัศน์ของประเทศหลังวิกฤตการณ์โควิด เพื่อให้เห็นภาพกว้างที่ชัดเจนมากขึ้นและค่อยมาเจาะลึกลงรายละเอียดเพื่อหาวิธีการพัฒนากำลังคนให้ตอบโจทย์ตามความต้องการของประเทศหลังสถานการณ์โควิดได้อย่างตรงจุดต่อไป” ดร. สุวิทย์ กล่าว