กนง.คาดเงินทุนไหลเข้าไทยต่อเนื่อง ประเมินเศรษฐกิจโลกเบ้ไปด้านตํ่ามากขึ้น

07 เม.ย. 2559 | 13:00 น.
บอร์ดกนง.ประเมินความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวศก.โลกเบ้ไปด้านต่ำมากขึ้นจากความเปราะบางของภาคการเงินในยุโรปเป็นสำคัญ/คาดความแตกต่างของการดำเนินนโยบายการเงินอาจส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าตลาดการเงินไทยต่อเนื่อง

รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 2/2559 วันที่ 23 มีนาคม 2559 ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่ ณ วันที่ 5 เมษายน 2559 กรรมการที่เข้าร่วมประชุม นายวิรไท สันติประภพ (ประธาน) นายเมธี สุภาพงษ์ (รองประธาน) นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน นายจาลอง อติกุล นายปรเมธี วิมลศิริ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ นายอภิชัย บุญธีรวรโดยคณะกรรมการ(บอร์ดกนง.) ประเมินภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจโลกกับปริมาณการค้าโลกเปลี่ยนแปลงไปมากจากในอดีต โดยปริมาณการค้าเติบโตต่ำกว่าแนวโน้มเดิม ซึ่งเป็นปัจจัยลบที่สำคัญต่อภาคการส่งออก ของเศรษฐกิจเอเชียรวมถึงไทย และความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเบ้ไปด้านต่างมากขึ้นจาก ความเปราะบางของภาคการเงินในยุโรปเป็นสำคัญ ขณะที่ความเสี่ยงจากภาคการเงินและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชียในระยะต่อไป

ด้านภาวะตลาดการเงิน บอร์ดกนง. คาดว่าทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่แตกต่างกัน (monetary policy divergence) จะยังส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงินและเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี สินทรัพย์ของไทยมีความน่าสนใจสำหรับนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากเสถียรภาพด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับความผันผวนของค่าเงินบาทอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาค ซึ่งอาจส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าตลาดการเงินไทยต่อเนื่อง

สำหรับภาวะเศรษฐกิจในประเทศในระยะต่อไป บอร์ดกนง.ประเมินว่า ความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงโน้มไปด้านต่ำจากเศรษฐกิจโลกที่มี ความเปราะบาง รวมถึงภัยแล้งที่อาจมีผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าคาด (ปรับลดประมาณการจีดีพีลงมาอยู่ที่ 3.1%จากเดิม 3.5% พร้อมประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปเป็น 0.6%จากเดิมอยู่ที่ 0.8% และปรับลดประมาณการเงินเฟ้อพื้นฐานเป็น 0.8% จากเดิมอยู่ที่ 0.9%) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงติดลบต่อเนื่องตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงมาต่ำกว่าคาดในช่วงปลายปี 2558 เป็นสำคัญ โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคือราคาน้ำมันโลกที่ยังเคลื่อนไหวผันผวน ทั้งนี้ การคาดการณ์เงินเฟ้อระยะปานกลางของสาธารณชนยังคงใกล้เคียงกับเป้าหมายเงินเฟ้อแม้จะมีแนวโน้มลดลงบ้าง ซึ่งในระยะข้างหน้าบอร์ดกนง.จะติดตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนอย่างใกล้ชิดต่อไป

อย่างไรก็ดีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงินโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นบ้าง จากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า (search for yield) และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนในภาคเกษตรและธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ที่มีแนวโน้มลดลงจากผลกระทบของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวล่าช้า ในขณะที่กรรมการส่วนหนึ่งมีข้อสังเกตว่า ต้นทุนการระดมทุนของธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ในระดับต่ำซึ่งอาจไม่สะท้อนค่าความเสี่ยงที่แท้จริง (underpricing of risk) จึงเห็นควรให้ติดตามและประเมินสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายระยะต่อไป บอร์ดกนง.เห็นว่านโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง โดยพร้อมจะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ

อนึ่ง บอร์ดกนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในการประชุมครั้งนี้ โดยเห็นความสำคัญของการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) ไว้ในยามจำเป็นในระยะข้างหน้าซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากปัจจัยเสี่ยง เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจล่าช้ากว่าคาด รวมทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ กรรมการส่วนหนึ่งประเมินว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีผลบวกจำกัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ อย่างไรก็ดี กรรมการเห็นพ้องว่า ที่ผ่านมามีบางช่วงที่เงินบาทโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินในภูมิภาค ซึ่งอาจไม่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเท่าที่ควร

Photo : Pixabay

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,146 วันที่ 7 - 9 เมษายน พ.ศ. 2559