สหรัฐฯลุ้นสภาอนุมัติเพิ่ม 9.7 ล้านล้านช่วย SMEs

19 เม.ย. 2563 | 21:50 น.

นายสตีเว่น มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐอเมริกา เปิดเผยวานนี้ (19 เม.ย.)ว่า รัฐบาลและสภาคองเกรสใกล้จะบรรลุข้อตกลงกันได้แล้วเกี่ยวกับมาตรการเพิ่มเติมในการให้ความช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กของสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งนี้ ความช่วยเหลือดังกล่าวจะมีมูลค่าวงเงิน 300,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 9.78 ล้านล้านบาทผ่านทางโครงการ Paycheck Protection Program (PPP) ที่มุ่งให้เงินกู้เสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กให้สามารถประคองธุรกิจฝ่าวิกฤตไวรัสโควิด-19 ไปได้โดยไม่ต้องปลดคนงานหรือพนักงาน (ด้วยเหตุนี้จึงชื่อ “โครงการพิทักษ์การจ้างงาน”)

   

สตีเว่น มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ

 

นับเป็นความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ภาคธุรกิจของสหรัฐฯที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (เฟด) ได้ประกาศมาตรการเยียวยาให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจทุกขนาดผ่านโครงการเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจลงลึกถึงระดับมลรัฐและเทศบาล มูลค่าวงเงิน 2.3 ล้านล้านดอลลาร์

รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เปิดเผยหลังการหารือกับนางแนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร(จากพรรคเดโมแครต)ว่า ข้อตกลงนี้น่าจะผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาในวันจันทร์ (20 เม.ย.) จากนั้นคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาเพื่อรับรองโดยสภาผู้แทนราษฎรในวันอังคาร (21 เม.ย.) ที่จะถึงนี้เพื่อออกเป็นกฎหมาย

แนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ

ในวงเงินความช่วยเหลือ 300,000 ล้านดอลลาร์ดังกล่าว นอกเหนือจากการเสริมสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจขนาดเล็กผ่านโครงการ PPP แล้ว นายมนูชินเสนอว่าส่วนหนึ่งคือ 75,000 ล้านดอลลาร์จะนำไปสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาลที่ต้องรองรับผู้ป่วยโควิด-19 และอีก 25,000 ล้านดอลลาร์จะนำไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพและขยายขอบเขตการให้บริการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 แก่ประชาชน แต่ฝ่ายเดโมแครตเห็นว่าควรจัดสรรเงินสนับสนุนโรงพยาบาลมากกว่านั้น โดยตัวเลขที่เดโมแครตเสนอคือ 100,000 ล้านดอลลาร์ และเห็นว่าสภาคองเกรสควรมีมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ ที่มากกว่าการเพิ่มวงเงินให้กับโครงการ อย่างไรก็ตาม การหารือของทั้งสองฝ่ายมาถึงจุดที่ใกล้จะตกลงกันได้แล้ว

 

ข้อเสนอความช่วยเหลือยังรวมถึงการจัดสรรเงินกองทุน 150,000 ล้านดอลลาร์ให้กับรัฐบาลระดับท้องถิ่นและมลรัฐเอาไว้ใช้สู้กับวิกฤตโควิด-19 ตามความจำเป็นของแต่ละพื้นที่ ซึ่งก่อนหน้านี้การเสนอความช่วยเหลือลงระดับท้องถิ่นมักจะถูกคัดค้านเนื่องจากอาจถูกมองว่าเป็นการแสวงประโยชน์ทางการเมือง อย่างไรก็ตามท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 นักการเมืองฝั่งเดโมแครตซึ่งเป็นฝ่ายค้าน ก็ยังสนับสนุนการให้เงินช่วยเหลือหลายพันล้านดอลลาร์แก่รัฐบาลมลรัฐที่ทั้งสองพรรคมีฐานเสียงมากพอๆกัน อาทิ เพนซิลวาเนีย มิชิแกน โอไฮโอ และวิสคอนซิน (ทั้ง 4 มลรัฐนี้ ทรัมป์สามารถคว้าชัยชนะให้กับพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งเมื่อปี 2559) 

ความต้องการสินเชื่อสูงทุกขนาดธุรกิจ  

สื่อท้องถิ่นของสหรัฐฯ รายงานว่า การหารือระหว่างรัฐบาลและสภาคองเกรสเพื่อขอเพิ่มวงเงินความช่วยเหลือเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจขนาดเล็กของสหรัฐฯในครั้งนี้ เนื่องมาจากโครงการความช่วยเหลือที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ได้แก่ โครงการเสริมสภาพคล่องของสมาคมธุรกิจขนาดเล็ก (Small Business Administration: SBA) มูลค่าวงเงิน 349,000 ล้านดอลลาร์ ที่มุ่งช่วยผู้ประกอบการร้านค้าเล็ก ๆ เช่นร้านโชห่วย ถูกแห่กู้จนเงินกองทุนหมดเกลี้ยงภายในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ ซ้ำยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าให้กู้ผิดกลุ่มเป้าหมายโดยผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือกลับเป็นเชนร้านอาหารขนาดใหญ่  

 

นายแลร์รี ซัมเมอร์ อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (18 เม.ย.) แสดงความเห็นเกี่ยวกับช่องโหว่ดังกล่าวว่า นิยามของธุรกิจที่สามารถยื่นขอรับความช่วยเหลือจากโครงการ “กว้างเกินไป” ควรได้รับการแก้ไข ไม่งั้นเงินช่วยเหลือจะไหลไปยังธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการจ้างงานคนงานหลายร้อยคนและมีสินทรัพย์หลายล้านดอลลาร์ แทนที่จะได้ช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องการความช่วยเหลือมากกว่า เช่น ร้านดอกไม้ ร้านตัดผม ร้านพิซซ่าริมถนน หรือร้านค้าในย่านชุมชนที่มีรายได้น้อย

 

จากข้อมูลของ SBA พบว่า ผู้มาขอกู้เงินจากกองทุนส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ธุรกิจบริการด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญ อุตสาหกรรมการผลิต และธุรกิจบริการด้านสุขภาพ

 

ส่วนโครงการ PPP นั้นให้กู้แก่ผู้ประกอบการ โดยวงเงินกู้ (loan) อาจสูงถึงรายละ 10 ล้านดอลลาร์และสามารถเปลี่ยนเป็นเงินให้เปล่า (grant) หากผู้กู้ซึ่งเป็นนายจ้างสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไข เช่น สามารถรักษาการจ้างงานเอาไว้ได้ สามารถจ่ายค่าเช่าและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ไปตลอดระยะเวลา 2 เดือน เป้าหมายก็เพื่อให้ธุรกิจสามารถประคองตัวรอดจนกว่ารัฐบาลจะยกเลิกมาตรการ “ล็อกดาวน์” และเปิดให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนได้อีกครั้ง  

 

ทั้งนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนชาวอเมริกัน 900 คนโดยหนังสือพิมพ์ วอลล์ สตรีท เจอร์นัลร่วมกับสำนักข่าวเอ็นบีซี นิวส์ พบว่า ส่วนใหญ่วิตกว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะยกเลิกมาตรการควบคุมต่าง ๆ (ที่มีเป้าหมายสกัดการแพร่กระจายของโรคระบาดโควิด-19) เร็วเกินไป เกือบ 60% เห็นว่าควรยืดเวลาต่อไปอีก และมีเพียงประมาณ 30% ที่เห็นว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจมีความสำคัญมากกว่าผลกระทบที่มีต่อสุขภาพของประชาชน