แพลตฟอร์มประเทศไทย: เมื่อเราต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ภายใต้ข้อจำกัดที่มากขึ้น

19 เม.ย. 2563 | 08:47 น.

  คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์ นอกขนบ โดย สุวิทย์ สรรพวิทยศิริ “มูลนิธิ สวค.”  [email protected]

ภาพเค้าลางของสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นอย่างโรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัส (Covid-19) ต่อเศรษฐกิจและสังคมโลกกำลังเด่นชัดขึ้น กำลังทำให้เกิดสิ่งที่กลายเป็นปกติใหม่ซึ่งถูกเรียกว่า New Normal ที่เปลี่ยนแพลตฟอร์มความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ให้มีระเบียบแบบแผนที่ไม่เป็นไปตามจินตนาการเหมือนในอดีต 

แต่ระเบียบแบบแผนใหม่ของเศรษฐกิจและสังคมหลังโรคระบาดใหญ่ ได้สร้างความผูกพันและเป็นพันธะพึ่งพิงในเชิงระบบที่เป็นอัตวิสัยร่วม (Subjective)  สังคมกำลังเชื่อ “ความรู้” มากกว่า “ความรู้สึก” “ความคิดเห็น” กำลังถูกท้าทายด้วย “ข้อมูลเชิงประจักษ์” 

ความถูกต้องของข้อมูลกำลังสร้างมาตรฐานของเศรษฐกิจและสังคมใหม่ที่ดำเนินการดิสเครดิตความรู้สึกและความเชื่อส่วนบุคคล การถวิลหาและรอคอยความจริงจากศูนย์รวมข้อมูลหนึ่งเดียว (Dashboard) จะให้คำตอบที่เป็นฉันทานุมัติ (Consensus) จะเป็นจุดเริ่มต้น กำหนดทั้งทิศทางและขนาดอย่างสม่ำเสมอ 

พลังของ Dashboard จะเป็นจุดเริ่มต้นของบทบาท Data สู่การสร้างสารสนเทศ (Information) ส่งต่อให้เกิดความรู้ (Knowledge) และปัญญา (Wisdom) มิใช่การใช้ความรู้สึกที่เกิดจากการสัมผัสและความเชื่อที่เกิดจากอคติ

เมื่อการพึ่งพางบประมาณภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังจากนี้จะมีปัญหา หนี้สาธารณะที่สูงขึ้น กระแสเงินสดของรัฐจะเริ่มมีปัญหา งบประมาณการใช้จ่ายจะมีข้อจำกัด ตามภาระผูกพันในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ แต่หากเราเชื่อว่าเราจะกลับมายืนได้อีกครั้งบนข้อจำกัดของงบประมาณในอนาคต ต้องคิดบนพื้นฐานของการปรับเปลี่ยนวิธีคิด (Mindset) อย่างสิ้นเชิง

หนทางรอดต้องสร้างให้เกิดแพลตฟอร์มใหม่จะลดความผันผวนทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ และลดช่องทางสังคม  ในขณะที่บทบาทของกลไกรัฐจะต้องให้ความสำคัญกับสินค้าและบริการสาธารณะ (Public Goods) ที่จะต้องเข้ามาลดค่าใช้จ่าย สร้างการรับรู้ และเตรียมความพร้อม มากกว่าสร้างโอกาสในการหารายได้ซึ่งต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกลไกตลาด เพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มแบบก้าวกระโดด 

เริ่มที่ปัจจัยแวดล้อม (Ecosystem) ที่จำเป็นต่อผลิตภาพรวม (Total Factor Productivity) ที่มีคนคุณภาพ (Quality of Labor) และทุนคุณภาพ (Quality of Capital) หรือเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้ถูกใช้ประโยชน์สูงสุด จึงขอเสนอแพลตฟอร์มเพื่อการออกแบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยใหม่ที่จำเป็นในสภาวะที่ไม่มีงบประมาณมากพอ แต่ต้องทำเพื่อรองรับอนาคตก่อนที่จะสายเกินไป

1.แพลตฟอร์มการบริหารราชการที่ลดจำนวนจังหวัดลงจาก 77 จังหวัด เหลือไม่เกิน 20 เขตพื้นที่พิเศษ ใช้ EEC Model (ในการควบรวมระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา) และต้องลดและเลิกราชการส่วนภูมิภาคลงด้วยเพื่อให้เกิดความคล่องตัว แล้วเพิ่มบทบาทของส่วนท้องถิ่นให้ดำเนินการงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและสังคมแทนทั้งหมด ตัวชี้วัดคือ คุณภาพคน คุณภาพเทคโนโลยีและคุณภาพสังคม

2.แพลตฟอร์มการกำหนดพื้นที่เมืองและการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เมือง ลดและควบคุมการขยายตัวของเมืองออกไปในพื้นที่ชานเมือง และหันมาใช้ประโยชน์จากพื้นที่กลางเมืองให้เต็มประสิทธิภาพ เพื่อลดการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้งบประมาณจำนวนมากและการใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะในเมืองให้เต็มศักยภาพเป็นการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดบนพื้นที่ที่จำกัด ลดค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทางและดำเนินชีวิต สำหรับระหว่างเมืองให้ใช้ระบบขนส่งขนาดใหญ่ (Mass Transit) ในการเชื่อมเมืองใหญ่ให้ใกล้ชิดกัน

3.แพลตฟอร์มข้อมูลบุคคล เพื่อประโยชน์สำหรับการพัฒนาศักยภาพคนและสวัสดิการภาครัฐ การปิดความเสี่ยงจากความเดือดร้อนโดยฉับพลัน ให้รัฐสามารถช่วยเหลือ (ระยะสั้น) และพัฒนา (ระยะยาว) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ศูนย์การจัดการข้อมูลหนึ่งเดียวกำหนดให้ประชาชนทุกคนต้องลงทะเบียนและอัพเดทข้อมูลของตนเอง (ด้วยตัวเอง) ปีละ 1 ครั้งหรือทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงการทำงานและที่อยู่ เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง

4.แพลตฟอร์มทักษะอนาคต ออกแบบการเรียนรู้ใหม่ของคนทุกกลุ่มในประเทศ โดยเริ่มต้นจากทักษะพื้นฐานที่ทุกคนต้องมีคือ ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ทักษะการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ (Transdisciplinary) และทักษะด้านการเงิน (Financial Skill) โดยแบ่งการสร้างทักษะอนาคตให้กับคน/แรงงาน ทุกกลุ่มผ่านรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยการเติมเครดิตจากภาครัฐเพื่อสร้างการรับรู้ (Perception) และการเตรียมความพร้อม (readiness) อย่างน้อย 4 กลุ่มเป้าหมาย 

1) กลุ่มครัวเรือนและสถาบันการศึกษาที่เน้นการให้ “ทักษะ มากกว่า ความรู้” เพื่อรองรับงานในอนาคต
2) กลุ่มแรงงานส่วนเกินหมายถึง กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสมัยใหม่ กลุ่มผู้เกษียณอายุ กลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนงาน การ reskill/upskill คนกลุ่มนี้ต้องกระจายตามพื้นที่และสาขาการผลิตและบริการที่ตอบสนองต่อการทำงานสมัยใหม่ได้ 
3) กลุ่มแรงงานใหม่ในระบบ กลุ่มที่กำลังเริ่มต้นทำงาน มีตอบสนองต่อเทคโนโลยีและการทำงานสมัยใหม่ แพลตฟอร์มทำหน้าที่เพียงสิ่งอำนวยความสะดวกก็เพียงพอ 4) กลุ่มแรงงานนอกระบบกลุ่มใหญ่ที่สุดของสังคม ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม เป็นผู้สูงอายุ คือ กลุ่มที่ต้องคำนึงถึงสวัสดิการ การให้ความรู้พื้นฐาน การเข้าถึงบริการของภาครัฐ การเปลี่ยนอาชีพ การสร้างรายได้ใหม่และการวางแผนทางการเงินและครอบครัว

5.แพลตฟอร์มสำหรับผู้ประกอบการขนาดย่อมและรายย่อย การออกแบบเฉพาะ (Customized) เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพที่เหมาะสม (Physical Infrastructure) และโครงสร้างพื้นฐานทางความรู้ (Knowledge Infrastructure) ที่ไม่ซับซ้อนขั้นตอนต้องสั้นที่สุด เพื่อลดช่องว่างและระยะห่างการได้รับการส่งเสริมในทิศทางที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการออกแบบการทำความรู้ความเข้าใจของความเสี่ยงและผลตอบแทน

สิ่งที่ผมนำเสนอทั้งหมดไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นแนวความคิดที่รอการนำปฏิบัติ เป็นเรื่องของคำว่า “ถึงเวลาแล้ว” เป็นเรื่องของการจัดการที่ใช้งบประมาณน้อยมาก 

ผมเข้าใจความจำเป็นของข้อจำกัดของงบประมาณรัฐในอีกหลายปี ที่จำเป็นต้องบรรเทาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเนื่องจากโรคระบาดใหญ่ และห่วงโซ่อุปทานของเศรษฐกิจโลกที่กำลังเปลี่ยนไป ดังบทความที่เขียนไว้ก่อนหน้านี้ 

แต่ความสำคัญหลังจากนี้ไป เมื่อโลกเปลี่ยน เศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยน ประเทศไทยต้องทำ “ไม่เหมือนเดิม” ทำให้เป็น New Norm ที่ดีกว่าเดิม 

โครงสร้างกลไกรัฐที่เต็มไปด้วยกฎหมายและกฎระเบียบข้อบังคับตามจินตนาการ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อความศักยภาพในการพัฒนาประเทศ จนไม่เห็นการแบ่งบันส่วนเกินของมูลค่าเพิ่มจากระบบเศรษฐกิจแบบรายใหญ่ได้ประโยชน์ ที่ให้แก่สู่ประชาชนหรือแรงงานกลุ่มล่างสุดของสังคมได้ 

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต้องอุบัติขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐจะเลือกเส้นทางที่ทำให้เกิดความโกลาหล หรือจะเลือกเส้นทางการเป็นรัฐที่ล้มเหลว มีทางเลือกอยู่เท่านั้นจริง ๆ 

หากรัฐยังซ้อนรัฐและไม่แก้ไขปัญหาโครงสร้างนี้ประเทศไทยและคนไทยไม่ได้ไปต่อแน่นอน แต่เราจะกลับมาได้อย่างแข็งแกร่งกว่าเดิมหากเราสามารถสร้างความเชื่อและความศรัทธาร่วม เหมือนครั้งหนึ่งที่เราเชื่อว่า การเรียนจะทำให้ชีวิตดีขึ้น เชื่อว่าลูกมากจะยากจน