ไขข้อสงสัย ใครได้ - ไม่ได้ หน้ากากผ้า ก.อุตฯ

20 เม.ย. 2563 | 05:25 น.

ก.อุตสาหกรรมชี้หน้ากากอนามัยผ้าเน้นแจกจ่ายผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกรุงเทพมหานครเป็นหลัก ยันได้ครบทุกคนช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ระบุปริมณฑลอาจได้ไม่ครบขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการจะพิจารณาแจกตามความเหมาะสม

กระทรวงอุตสาหกรรมได้เริ่มดำเนินการแจกหน้ากากอนามัยผ้าเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19)ให้กับประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครผ่านไปรษณีย์ไทยเรียบร้อยแล้ว  โดยล็อตแรกถึงมือประชาชนในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ กทม. (รหัสไปรษณีย์ 10100) เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา จำนวน 21,614 ชิ้น ส่วนลำดับต่อไปคือ 10100 เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย จำนวน 39,456 ชิ้น และ10110 เขตวัฒนาวัฒนา จำนวน 68,241 ชิ้น

ไขข้อสงสัย ใครได้ - ไม่ได้ หน้ากากผ้า ก.อุตฯ

  อย่างไรก็ดี  การดำเนินการดังกล่าวได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก และได้ส่งคำถามตรงมายัง “ฐานเศรษฐกิจ” ให้เป็นสื่อกลางในการไขข้อสงสัยเงื่อนไขในการได้รับแจกหน้ากากผ้าจากกระทรวงอุตฯในครั้งนี้ โดยได้ต่อสายตรงหา “นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม” ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของโครงการ  เพื่อให้ช่วยคลายข้อสงสัยของประชาชนดังกล่าว

-คอนโดได้รับแจกแน่นอน

              นางวรวรรณ บอกว่า ต่อคำถามที่ว่าผู้ที่อาศัยอยู่คอนโดมิเนียมจะได้รับแจกหรือไม่นั้น  ขอยืนยันว่าได้รับแจกแน่นอน โดยเงื่อนไขสำคัญก็คือจะต้องเป็นผู้ที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพฯเพราะฉะนั้น  หากมีคอนโดอยู่ในกรุงเทพฯก็จะเข้าเงื่อนไข ซึ่งเลขที่บ้านในคอนโดจะแยกกันของแต่ละบุคคลอยู่แล้ว

              “หากมีชื่อในทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพฯจะได้รับการแจกหน้ากากผ้าจาก ก.อุตฯแน่นอน  แม้ว่าจะเป็นผู้ที่เช่าที่พักอาศัยก็ตาม เรายึดตามทะเบียนราษฎร์  โดยส่งหน้ากากให้ตามจำนวนผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน”

-ปริมณฑลขึ้นอยู่กับ ผวจ.

              ส่วนพื้นที่ปริมณฑล เช่น นนทบุรีจะไม่ได้รับแจกทางไปรษณีย์เหมือนกับผู้ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ  แต่ก.อุตฯจะส่งหน้ากากผ้าไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง  หลังจากที่แจกในกรุงเพทฯครบแล้ว  โดยวิธีการแจกจ่ายของพื้นที่ปริมณฑลจะขึ้นอยู่กับวิธีการจัดสรรของผู้ว่าราชการของแต่ละพื้นที่ว่าจะเห็นสมควรอย่างไร

-ปรับวิธีแจกตามจำนวนคนในบ้าน

              นางวรวรรณ บอกอีกว่า  ก.อุตฯ จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการแจกหน้ากากอามัยผ้า  จากเดิมที่แจกตามเขตตามรหัสไปรษณีย์  ไปสู่รูปแบบของการพิจารณาแจกตามจำนวนผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน  โดยบ้านที่มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 1-4 คน หรือจำนวนน้อยจะได้รับการแจกก่อน  ซึ่งจากการพิจารณาร่วมกับไปรษณีย์ไทยแล้ว  เห็นตรงกันว่าจะทำให้การแจกจ่ายรวดเร็วมากขึ้น  ไม่เช่นนั้นผู้ที่รหัสไปรษณีย์รอบนอกจะได้รับช้า  และอาจจะมีเสียงบ่นเข้ามา

ไขข้อสงสัย ใครได้ - ไม่ได้ หน้ากากผ้า ก.อุตฯ

              “จากข้อมูลในทะเบียนบ้านเราพบว่าจำนวนบ้านที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านประมาณ 1-4 คนในพื้นที่กรุงเทพฯมีจำนวนเกินครึ่งของข้อมูลทั้งหมด เพราะฉะนั้นการแจกด้วยวิธีการดังกล่าวน่าจะสามารถกระจายไปได้รวดเร็วมากกว่า และไปรษณีย์ไทยเองก็ทำงานได้อย่างสะดวกมากขึ้นในการแพคของส่ง  โดยคาดว่าต้นเดือนพฤษภาคมจะทำให้ประชาชนในกรุงเทพฯได้รับหน้ากากผ้าครบทุกคน”

              สำหรับสัปดาห์นี้ก.อุตฯจะเริ่มแจกหน่ากากผ้าไปยังประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯอีกประมาณ  1 ล้านชิ้น

-เน้นพื้นที่กรุงเทพฯ

นางวรวรรณ บอกต่อไปอีกว่า ปัจจัยที่ก.อุตฯเลือกแจกเฉพาะเขตกรุงเทพฯ เพราะในส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดจะมีงบประมาณผ่านทางกระทรวงมหาดไทยลงไป  โดยมีหน้ากากอนามัยอยู่ประมาณ 50  ล้านชิ้นเพื่อแจกจ่าย ดังนั้น จึงไม่ควรที่จะไปดำเนินการซ้ำซ้อนกัน  ซึ่งเมื่อทำออกมา 10 ล้านชิ้นก็จะเกินความต้องการของพื้นที่กรุงเทพฯ  จึงได้มีการจัดสรรไปยังปริมณฑล แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าผู้ที่อยู่ในพื้นที่ปริมณฑลอาจจะไม่ได้ทุกคน

“การแจกหน้ากากผ้าในพื้นที่ปริมณฑลจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ ก.อุตฯจะไม่เข้าไปก้าวก่ายการทำงาน  หน้าที่ของ ก.ตฯ ก็คือการส่งหน้ากากอามัยผ้าไปให้เท่านั้นตามสัดส่วน”

อนึ่ง โครงการดังกล่าว ก.อุตฯร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  และภาคเอกชน ในการดำเนินการผลิตหน้ากากอนามัยผ้า  จำนวน 10 ล้านชิ้น เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนที่อยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมถึงพื้นที่เสี่ยงอื่น  โดยใช้งบประมาณทั้ง 67 ล้านบาท ประกอบด้วยงบที่ได้จากการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 63 ซึ่งเป็นงบประมาณรายจ่าย งบกลาง จำนวน 65 ล้านบาท และกระทรวงอุตฯจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีก 2 ล้านบาทจากสำนักงานปลัดกระทรวงอุตฯ

ไขข้อสงสัย ใครได้ - ไม่ได้ หน้ากากผ้า ก.อุตฯ

ทั้งนี้  การแจกจ่ายหน้ากากอนามัยผ้าจะดำเนินการผ่านไปรษณีย์ไทยตามข้อมูลทะเบียนบ้านทุกครัวเรือนในเขตกรุงเทพมหานคร ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จำนวนกว่า 3,050,000 ครัวเรือน จำนวนรวมกว่า 5,600,000 ชิ้น ตามบัญชีรายชื่อในทะเบียนบ้าน 1 คนต่อ 1 ชิ้น

ส่วนที่เหลือจำนวน 4,400,000 ชิ้น จะแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่เขตปริมณฑลและพื้นที่อื่นที่มีความเสี่ยง เช่น จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ จังหวัดภาคใต้และภาคใต้ชายแดน เป็นต้น รวมถึงพนักงานบริการที่มีความเสี่ยง เช่น บริษัทไปรษณีย์ไทยนำไปใช้ 40,000 ชิ้น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพหรือ ขสมก. จำนวน 20,000 ชิ้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 300,000 ชิ้น โรงพยาบาล 18 แห่ง180,000 ชิ้น รถไฟฟ้า บีที่เอส และเอ็มอาร์ที จำนวน 5,000 ชิ้น