ดอกเบี้ยเงินกู้ขาลงมาแล้วแบงก์พาณิชย์พาเหรดปรับลด 0.25% สนองคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ

09 เม.ย. 2559 | 02:00 น.
"ไทยพาณิชย์นำร่องลด 0.15% จ่อหั่นเพิ่มอีก 0.10% ค่ายใหญ่-กลาง "กรุงเทพ-กรุงไทย-กสิกรไทย" พาเหรดปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% สนองนโยบายหลังคลังขอความร่วมมือช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ "ทหารไทย" ใจป้ำหั่นทั้ง MLR-MRR % ฟากกูรู ลั่นช่วยกระตุกสภาพคล่องในมือผู้ประกอบการ ส่วนลงทุนใหม่จะเกิดต้องดูปัจจัยอื่นประกอบ /จับตาครึ่งปีหลังความต้องการสินเชื่อพุ่งตามฤดูกาล

[caption id="attachment_43314" align="aligncenter" width="700"] แบงก์พาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ย แบงก์พาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ย[/caption]

ตามที่ นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและประชาชน(เมื่อ 31 มี.ค. 59)โดยระบุการดูแลเศรษฐกิจทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงินต้องเดินไปด้วยกัน แต่รัฐบาลคงไม่สามารถอัดฉีดเงินหรือแจกเงินทุกวันเพราะข้อจำกัดการทำประชานิยมนั้น

ต่อเรื่องนี้นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานกรรมการบริหาร บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR เพิ่มขึ้นอีก 0.10% เพื่อใกล้เคียงกับธนาคารอื่นๆ หลังจากที่เป็นผู้นำประกาศปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ก่อนหน้านี้ไปแล้ว 0.15% จาก 6.525% เหลือ 6.375 ต่อปี เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา ส่งผลให้การปรับลดดอกเบี้ย 2 ครั้งรวมเป็น 0.25% ซึ่งจะมีผลภายในวันที่ 7 เมษายนนี้

"แบงก์มองผลบวกจากการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ เนื่องจากมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมแบ่งเบาภาระทางการเงินของลูกค้า ประกอบกับจะเห็นว่าคุณภาพหนี้ที่ไม่ได้ดีขึ้น การลดดอกเบี้ยจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้กู้ได้"

สอดรับกับนายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ที่ระบุว่า ธนาคารได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate: MLR) ลง 0.25% ต่อปี จากเดิมอยู่ที่ 6.525% ต่อปี เหลืออัตรา 6.275% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 6 เมษายนนี้เป็นต้นไป เพื่อร่วมขับเคลื่อน และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ตลอดจนช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยลดต้นทุนทางธุรกิจ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น

เช่นเดียวกับนายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เอ็มแอลอาร์ลง 0.25% จากเดิมอยู่ที่ 6.50% เหลือ 6.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2559 เพื่อสนองตอบนโยบายของภาครัฐในการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งเป็นกำลังขับเคลื่อนที่สำคัญของประเทศ โดยปัจจุบันจากรายงานของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่าเอสเอ็มอีเป็นกำลังขับเคลื่อน GDP ของประเทศประมาณ 40% นับว่าเป็นสัดส่วนที่สูงและสำคัญต่อการเติบโตของประเทศเป็นอย่างมาก

ด้านนายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนาคารทหารไทย หรือ ทีเอ็มบี กล่าวว่า ธนาคารประกาศปรับดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ ลดลง 0.25% ต่อปี จากเดิมอยู่ที่ 7.025% เหลือ 6.775% และประกาศปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อยชั้นดี (เอ็มอาร์อาร์) ลดลง 0.25% ต่อปี จาก 8.025% เหลือ 7.775% โดยมีผลตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายนนี้ ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวจะช่วยให้ต้นทุนดอกเบี้ยของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลดลง และช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการ นับเป็นการสนับสนุนการขยายตัวของธุรกิจเอสเอ็มอีให้เดินหน้าต่อไปได้

ดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เอ็มแอลอาร์ของสถาบันการเงินนั้น มองว่ามีผลต่อเศรษฐกิจระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากมีการปรับลดดอกเบี้ยเพียง 0.25% ถือว่าไม่มากนัก ประกอบกับสินเชื่อไม่ได้ผูกติดกับอัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ทุกตัว แต่อาจจะมีการผูกติดกับดอกเบี้ยประเภทอื่นด้วย อย่างไรก็ดี การปรับลดครั้งนี้อย่างน้อยช่วยให้สภาพคล่องในมือของผู้ประกอบการดีขึ้นจากภาระดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลง ทำให้มีเงินสดเหลือในมือ แต่จะขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการว่าจะนำเงินสภาพคล่องนั้นจะไปทำกิจกรรมอะไรต่อหลังจากนี้ แต่เชื่อภาพรวมช่วยลดภาระได้ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจให้คล่องตัวขึ้น

ส่วนจะก่อให้เกิดการลงทุนใหม่ได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายตัวไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอัตราดอกเบี้ยอย่างเดียว เพราะหากผู้ประกอบการรายใดมีแผนการลงทุนใหม่อยู่แล้ว อาจจะใช้ประโยชน์จากดอกเบี้ยลดครั้งนี้ ทำให้ต้นทุนการเงินปรับลดลง แต่ผู้ประกอบการบางรายอาจจะยังไม่มีแผนลงทุน เพราะยังมองแนวโน้มตลาดหรือคำสั่งซื้อในระยะข้างหน้าไม่ดี และเศรษฐกิจต่างประเทศยังชะลอ จึงยังไม่มีความมั่นใจที่จะลงทุน และเก็บสภาพคล่องไว้ก่อน ดังนั้นการลงทุนใหม่ต้องขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการจำนำสภาพคล่องที่เหลือไปใช้ในทิศทางใด ซึ่งก็มีความแตกต่างกันในแต่ละประเภทธุรกิจ

อย่างไรก็ดี หากประเมินความต้องการสินเชื่อนั้น โดยปกติในช่วงครึ่งแรกของปีจะไม่ค่อยมีธุรกรรมการกู้เงินมากนัก แต่จะเห็นความต้องการสินเชื่อในช่วงครึ่งหลังของปีที่หนาแน่นขึ้น เพราะเป็นช่วงที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อนข้างเยอะ เช่น คำสั่งซื้อสินค้า การเบิกใช้วงเงินกลุ่มเกษตร การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล และหากประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3% อัตราเงินเฟ้อไม่ได้ติดลบ ซึ่งจะมีแรงหนุนจากจีดีพีและอัตราเงินเฟ้อให้สินเชื่อปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน ดังนั้นหากประเมินความต้องการสินเชื่อในช่วง 2-3 เดือนแรกยังไม่ชัด เพราะไม่ใช่ฤดูกาลเบิกจ่าย

"แนวโน้มครึ่งหลังของปีความต้องการสินเชื่อจะมาจากทุกภาคส่วน ทั้งเกษตร ออร์เดอร์การส่งออกที่จะมาไตรมาส 3 และ 4 การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ และฤดูกาลการท่องเที่ยวที่จะพีกขึ้น จะเห็นว่าความต้องการมีเกือบทุกรายการ ทั้งการบริโภคและการลงทุน ส่วนธนาคารจะมีการปรับลดดอกเบี้ยอีกระลอกหรือไม่อาจต้องดูภาพรวมเศรษฐกิจจะฟื้นหรือไม่ เพราะการพิจารณาปรับดอกเบี้ยลงต้องนึกถึงผู้ฝากเงินด้วย"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,146 วันที่ 7 - 9 เมษายน พ.ศ. 2559