อัญมณี หมื่นรายระส่ำ ปิดตัวแล้ว50%

21 เม.ย. 2563 | 04:25 น.

ส่งออกอัญมณี 4.8 แสนล้านระสํ่าหนัก กว่าหมื่นราย ออร์เดอร์ใหม่หาย ออร์เดอร์เก่าถูกยกเลิก ทำเดือดร้อนหนัก ปิดตัวชั่วคราวแล้วกว่า 50% กระทบแรงงาน 4 แสนคน ขาดรายได้ รัฐช่วยต่อลมหายใจ รอลุ้นอีก 3 เดือน หยุดยาวหรือไปต่อ

 

ปี 2562 อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 2 ของไทยรองจากรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มีมูลค่าส่งออกถึง 486,217 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 27%

(รวมส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปหรือทองคำแท่ง) ขณะที่ช่วง 2 เดือนแรกปี 2563 การส่งออกสินค้าอัญมณีฯ แม้มีมูลค่าสูงถึง 112,578 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 62% แต่หากหักการส่งออกทองคำที่ซื้อมาขายไปตามราคาตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นในเวลานี้แล้ว (2 เดือนแรกไทยส่งออกทองคำ 78,753 ล้านบาท ขยายตัว 206%) การส่งออกสินค้าอัญมณีฯจากโรงงานผลิตทำได้เพียง 33,825 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันถึง 22% ซึ่งบ่งชี้ถึงสถานการณ์น่าเป็นห่วง

นายกิตติศักดิ์ อุดมแดงอร่าม นายกสมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงิน หนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญในกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการโรงงานเครื่องประดับเงินที่เป็นสมาชิกของสมาคมกว่า 150 ราย รวมถึงผู้ประกอบการที่เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน สมาชิกของสมาคม และชมรมต่างๆ ในกลุ่มเครื่องประดับเงิน รวมแรงงานในอุตสาหกรรม 3-4 แสนคนกำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เฉพาะอย่างยิ่งใน 2 ตลาดใหญ่คือ สหรัฐอเมริกา และยุโรปที่เชื้อยังแพร่ระบาดอย่างหนัก และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามาเลย

“ปี 2562 การส่งออกเครื่องประดับเงินของไทยมีมูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ผลพวงจากโควิด-19 ในเวลานี้เราได้รับผลกระทบหนักมาก เพราะไม่มีออร์เดอร์ใหม่เข้ามา ออร์เดอร์ที่สั่งผลิตไว้แล้วก็ให้หยุดส่งมอบ หรือถูกยกเลิก จากร้านค้าปลีกสาขาต่างๆ ของลูกค้าทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป และตลาดอื่นๆ ที่นำไปจำหน่ายต่อถูกปิด การขนส่งก็มีปัญหาจากหลายเมืองล็อกดาวน์”

ผลพวงทำให้โรงงานสมาชิก และภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องเงินต้องปิดกิจการชั่วคราวลงแล้วไม่ต่ำกว่า 50% ปัญหาที่ตามมาคือ ขาดสภาพคล่องไม่มีเงินจ่ายพนักงานและคนงาน ก่อนหน้านี้เครียดกันมากไม่มีทางออกว่าจะประคองธุรกิจและรักษาคนงานไว้ได้อย่างไร แต่ล่าสุดถือเป็นข่าวดีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติขยายความครอบคลุมผู้ประกันตนรับสิทธิว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย สามารถรับเงินกรณีว่างงาน 62% ของค่าจ้างรายวันไม่เกิน 90 วัน ผ่านทางกองทุนประกันสังคม ซึ่งจะได้ศึกษารายละเอียดเพื่อให้แรงงานได้เข้าใช้สิทธิประโยชน์ต่อไป

 

อย่างไรก็ดี กรณีที่รัฐบาล โดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ร่วมกับสถาบันการเงินจะปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่เอกชนกว่า 5 แสนล้านบาท อยากให้ผ่อนปรนเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินได้อย่างแท้จริงเพื่อประคองธุรกิจ โดยไม่ใช้กฎเกณฑ์ตามปกติของแต่ละธนาคาร เพราะวิกฤติครั้งนี้ถือว่าหนักมากในรอบ 100 ปี และยังคาดเดาไม่ได้ว่าอีก 3 เดือนนับจากนี้จะเป็นเช่นไร ภาคธุรกิจจะกลับมาได้หรือไม่

นายวีระศักดิ์ เลอวิศิษฎ์ อดีตนายกสมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงิน กล่าวว่า คาดอย่างช้าสุดไม่เกินกลางเดือนพฤษภาคมนี้ ผู้ประกอบการเครื่องเงินจะไม่มีออร์เดอร์ในมือ คนงานจะไม่มีงานทำ หลัง 3 เดือนนับจากนี้ที่คาดว่ารัฐจะให้ความช่วยเหลือช่วยจ่ายเยียวยาแรงงานก็ยังไม่ทราบอนาคตจะเป็นอย่างไร

นายสมชาย พรจินดารักษ์ ประธานสมาพันธ์อัญมณี เครื่องประดับและโลหะมีค่าแห่งประเทศไทย (สมาคมอัญมณีและเครื่องประดับรวมตัวกัน 10 สมาคม) กล่าวว่า เวลานี้ส่วนใหญ่แรงงานในอุตสาหกรรมอัญมณีต้องหยุดทำงานชั่วคราวแล้ว 60-70% ของภาพรวม จากไม่มีออร์เดอร์ใหม่เข้ามา และสมาชิกสมาพันธ์กว่า 1 หมื่นรายส่วนใหญ่ได้ปิดกิจการชั่วคราวแล้ว จากถูกมองว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยไม่มีความจำเป็นในการบริโภคในเวลานี้ ในสัปดาห์หน้าทางนายกสมาคมในสมาพันธ์จะได้หารือกันว่าจะประสานกับรัฐบาลเพื่อขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมอย่างไรต่อไป

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,567 วันที่ 19 - 22 เมษายน พ.ศ. 2563