จ่ายดอก3หมื่นล. กู้สู้โควิดล้านล้าน

20 เม.ย. 2563 | 00:35 น.

กู้ 1 ล้านล้านบาท ดันหนี้สาธารณะค้าง 8 ล้านล้านบาท เพิ่มเป็น 50% ของจีดีพี ภาระดอกเบี้ยเพิ่่ม 3 หมื่นล้านบาท ยันไม่เป็นปัญหา ยังอยู่ในกรอบวินัยการคลัง ความสามารถชำระหนี้สูง เหตุมีทุนสำรอง 2.2 แสนล้านดอลลาร์  

ก่อนที่หนี้สาธารณะของประเทศจะเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านล้านบาท ตามกรอบพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในมาตรการเยียวยาผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด) มาดูระดับหนี้สาธารณะของประเทศล่าสุด ณ กุมภาพันธ์ 2563 สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) รายงานว่า มียอดหนี้สาธารณะคงค้างทั้งสิ้น 7.03 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41.44% ของจีดีพี

(จีดีพี 16.96 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 126,110.33 ล้านบาทจากสิ้นปีงบประมาณ 2562 ที่มีหนี้สาธารณะทั้งสิ้น 6.9 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41.10% จีดีพี (16.79 ล้านล้านบาท)

สำหรับหนี้สาธารณะ  7.03 ล้านล้านบาทเมื่อเทียบกับสิ้นปีงบประมาณ 2562 แบ่งเป็นหนี้รัฐบาล 5.8  ล้านล้านบาทคิดเป็น 82.59% เพิ่มขึ้น  139,908.99 ล้านบาท โดยเป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 4.95 ล้านล้านบาท  กู้เพื่อชดเชยความเสียหายกองทุนฟื้นฟูฯ 801,416.21 ล้านบาท และกู้ล่วงหน้าเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ 53,160.00 ล้านบาท ขณะที่หนี้รัฐวิสาหกิจ 888,165.33 ล้านบาท ลดลง 4,432.34 ล้านบาท  หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน 327,049.62 ลดลง 8,872.3 ล้านบาท และหนี้ของหน่วยงานของรัฐ 8,611.98  ลดลง 494.76

ส่วนการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จัดเก็บได้ทั้งสิ้น 168,982 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 12,007 ล้านบาท หรือ 6.6% และต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีก่อน 4.9% แต่เมื่อรวม 5 เดือนปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลจัดเก็บรายได้ทั้งสิ้น 985,343 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6,772 ล้านบาท หรือ 0.7% ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 0.7% 

สำหรับโครงสร้างงบประมาณปี 2563  ภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่าย 3.2 ล้านล้านบาท โดยเป็นรายจ่ายประจำ 2.4 ล้านล้านบาท  ชดใช้เงินเงินคงคลัง 62,709.5 ล้านบาท  รายจ่ายลงทุน 644,425.7  ล้านบาท และชำระคืนต้นเงินกู้ 89,170.4 ล้านบาท ภายใต้กรอบประมาณการรายได้  2.731 ล้านล้านบาท  โดยที่รัฐบาลจะต้องกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลทั้งสิ้น 469,000  ล้านบาท ภายใต้กรอบเพดานเงินกู้ที่กฎหมายกำหนดไว้ 711,336.3   ล้านบาท 

ดังนั้นภายใต้กรอบงบประมาณขาดดุลดังกล่าว กระทรวงการคลังได้วางกรอบการบริหารหนี้สาธารณะในปีงบประมาณ 2563 ไว้คือ แผนก่อหนี้ใหม่ 894,005.65  แผนบริหารหนี้เดิม 831,150.32 และแผนชำระหนี้ 398,372.55 โดยเป็นการชำระหนี้รัฐบาลและหน่วยงานรัฐ 309,119.34 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้เงินต้น 89,170.4 ค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ย 219,947.99
ล้านบาท และการชำระหนี้แหล่งอื่นๆ 89,254.16 แบ่งเป็นหนี้เงินต้น 45,438.28 ค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ย 43,815.88 ล้านบาท

“กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ กำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่เกิน 60% คาดว่าปีงบประมาณ 2563 ระดับหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 42.76 ซึ่งไม่เกินกรอบและอยู่ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ คณะกรรมการนโยบายการคลังของรัฐ งบประมาณการเพื่อการชำระคืนเงินกู้ของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐไม่ต่ำกว่า 2.5% แต่ไม่เกิน 3.5% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี”

จ่ายดอก3หมื่นล.  กู้สู้โควิดล้านล้าน

อย่างไรก็ตาม หากมีกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท ภายใน 30 กันยายน 2564 หรือ 1 ปีครึ่ง ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้ จะทำให้ระดับหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มเป็น 8 ล้านล้านบาท คิดเป็น 50% ของจีดีพีที่ 16 ล้านล้านบาท และทำให้รัฐบาลมีภาระดอกเบี้ย (ดอกเบี้ยรัฐบาลเฉลี่ยที่ 3%) เพิ่มขึ้น 30,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีการกู้ในงบประมาณปี 2563 ประมาณ 6 แสนล้านบาทที่เป็นงบเยียวยาประชาชน เกษตรกรและสาธารณะ ซึ่งส่วนนี้จะมีภาระดอกเบี้ยประมาณ 18,000 ล้านบาท

นายสมชาย ภคภาสวิวัฒน์ นักวิชาการอิสระ ด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ระดับหนี้สาธารณะไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับไทย เพราะปัจจุบันยังอยู่ในระดับ 40% ของจีดีพี ซึ่งต่ำกว่ากรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดไว้ 60% ซึ่งเป็นกรอบที่ทั่วโลกใช้ แต่ไทยยังมีวินัยเคร่งครัดว่าไม่ควรเกิน 50% จึงยังมีพื้นที่เหลืออีก 10% ของจีดีพีที่สามารถกู้ได้หรือ 1.6 ล้านล้านบาทขึ้นกับว่า รัฐบาลจะนำมาใช้อะไร ดังนั้นการกู้เพิ่ม 1 ล้านล้านบาทก็ยังอยู่ในกรอบ

ส่วนที่จะเป็นปัญหาคือ สัดส่วนการขาดดุลงบประมาณต่อจีดีพี เดิมประมาณ 3% แต่เมื่อกู้เพิ่ม 1 ล้านล้านบาท ให้สัดส่วนเพิ่มเป็น 5% ของจีดีพี แต่ในภาวะวิกฤติประเทศต่างๆ ก็ยืดหยุ่นทั้งสิ้น อย่างสิงคโปร์ระดับหนี้ต่อจีดีพี 100% ญี่ปุ่น 200% สหรัฐอเมริกา 100% และสหภาพยุโรป 130% เพราะแต่ละประเทศจำเป็นต้องยืดหยุ่น เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจพัง ไม่เช่นนั้นทุกอย่างจะล้มละลายได้

“สิ่งสำคัญคือความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งดูจากระดับทุนสำรองของประเทศที่สูงถึง 2.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่าหนี้ระยะสั้นถึง 3 เท่า”

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,567 วันที่ 19 - 22 เมษายน พ.ศ. 2563