“ภาคธุรกิจ” ลุ้นรัฐ ปลดล็อกกิจการ

18 เม.ย. 2563 | 03:00 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3567 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 19-22 เม.ย.63 โดย.. ว.เชิงดอย

      +++ ยังถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่น่า “พอใจ” สำหรับผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับประเทศไทย เพราะตัวเลขเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 29 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 2,672  ราย เสียชีวิตใหม่เพิ่ม 3 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสม 46 ราย รักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 1,077 ราย และรักษาหายกลับบ้านแล้ว 1,593 ราย ซึ่งในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ ณ วันที่ 13 เมษายน มีผู้ติดใหม่ 28 ราย วันที่ 14 เมษายน 34 ราย วันที่ 15 เมษายน 30 ราย และวันที่ 16 เมษายน อยู่ที่ 29 ราย ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ และคนไทยยังร่วมมือร่วมใจกัน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ไปอีกสักระยะ จนตัวเลขผู้ติดเชื้อลดน้อยไปเรื่อยๆ ก็เชื่อว่ารัฐบาลน่าจะมีการ “ผ่อนปรน” พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และประกาศต่าง ๆ ให้คนไทยเริ่มกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ขณะที่ “ห้างร้าน” ต่างๆ ก็พร้อมกลับมาเปิดดำเนินกิจการกันอยู่แล้ว แต่ก็ต้องมีมาตรการ “คัดกรอง” ที่เข้มข้นไปอีกสักระยะ จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะผ่อนคลายไปในที่สุด

 

      +++ ยินดีกับ  25 จังหวัด ที่ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ เกิดขึ้น ในช่วง 14 วัน ระหว่าง 2-15 เมษายน ได้แก่ เชียงราย, เพชรบุรี, เพชรบูรณ์, แพร่, แม่ฮ่องสอน, กาญจนบุรี, จันทบุรี, นครนายก, บุรีรัมย์, มหาสารคาม, มุกดาหาร, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, ราชบุรี, ลพบุรี, ลำพูน, ศรีสะเกษ, สมุทรสงคราม, สระบุรี, สุโขทัย, หนองบัวลำภู, อำนาจเจริญ, อุดรธานี, อุตรดิตถ์, อุทัยธานี  ขณะที่มี 9 จังหวัด ยังเหนียวแน่น เนื่องจากไม่พบผู้ติดเชื้อมาตั้งแต่ต้นเลย ประกอบด้วย กําแพงเพชร, ชัยนาท, ตราด, น่าน, บึงกาฬ, พิจิตร, ระนอง, สิงห์บุรี, อ่างทอง

      +++ สำหรับจังหวัดต่าง ๆ เหล่านี้ รวม 34 จังหวัด หากยังรักษาสถิติแบบนี้ไปได้ ก็เชื่อว่าน่าจะมีการ “ผ่อนปรน” พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือมาตรการต่าง ๆ ได้เร็วกว่าจังหวัดอื่น ๆ ซึ่งล่าสุด “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ก็ออกมาบอกแล้วว่า "ทราบดีว่าทุกคนเดือดร้อน ท่านยิ่งร้อนใจผมยิ่งร้อนใจกว่า เพราะผมเป็นรัฐบาลที่ต้องดูแลท่าน ขอให้เข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยเราจะประเมินอีกครั้ง ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน ระหว่างนี้ก็กำลังหามาตรการที่เหมาะสมอยู่ หาหนทางที่ดีที่สุด และถ้าหากมีการผ่อนปรนเหล่านี้ ก็ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปไม่ใช่ทีเดียวทั้งหมด เพราะบางพื้นที่ก็มีการแพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ทุกคนทราบดีอยู่แล้ว คือ ภาคกลาง กรุงเทพฯ ปริมณฑล และ ภาคใต้ จึงต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้กลับมาระบาดใหม่ในทุกมิติ ทุกกิจการต้องเตรียมความพร้อมของท่านไว้ด้วย ต้องแสดงให้เห็นว่ามีความพร้อมอย่างไรเมื่อจะเปิด" 

      +++ เมื่อพูดถึงความพร้อมในการกลับมาเปิดกิจการ หรือดำเนินธุรกิจใหม่ ดูเหมือน “ภาคเอกชน” ก็พร้อมที่จะกลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติ “เต็มแก่” โดย กลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานกลุ่มมาตรการเพื่อการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ บอกว่า ขณะนี้กำลังพิจารณาข้อเสนอให้บางธุรกิจหรือบางกิจการเปิดกิจการได้ เพื่อบรรเทาผลกระทบสภาพคล่อง และการจ้างงาน โดยวางแนวทางไว้ 2 มติ คือ 1.กำหนดพื้นที่ที่จะเปิด 2.ธุรกิจหรือกิจการที่เปิด เบื้องต้นแบ่งเป็น 3 พื้นที่ คือ 1.พื้นที่สีเขียว เป็นจังหวัดที่ไม่มีการแพร่ระบาดและไม่มีผู้ติดเชื้อ 2.พื้นที่สีเหลือง เป็นจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนไม่มาก 3.พื้นที่สีแดง เป็นพื้นที่จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และมีแนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มขึ้น

      +++ กลินท์ สารสิน บอกว่า พื้นที่ใดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากอาจจะไม่พิจารณาให้เปิดธุรกิจ เพราะมีความเสี่ยงสูงในการระบาดเพิ่มขึ้น ส่วนพื้นที่ที่ระบาดน้อยจะพิจารณาความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ และพิจารณาว่าจะเปิดธุรกิจประเภทใดได้บ้าง ทั้งนี้การกำหนดพื้นที่ดังกล่าวจะยึดข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 (ศบค.)เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ธุรกิจหรือกิจการที่เสนอเปิดได้นั้น ก็จะมีการบริหารจัดการควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการบริหารพื้นที่เพื่อสร้าง ระยะห่าง โดยกรณีศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าต้องควบคุมจำนวนผู้เข้าไปใช้บริการ มีอุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ ขณะที่ร้านอาหารบางประเภทที่จะเปิดได้ ต้องจัดโต๊ะและเก้าอี้ให้มีระยะห่าง ควบคุมจำนวนคนที่จะเข้าไปทานอาหารในร้าน กำหนดเวลารับประทานอาหาร รวมทั้งผู้ปรุงอาหารและบริกรต้องมีอุปกรณ์ป้องกัน ในขณะที่ธุรกิจ ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากและหนาแน่น คงต้องปิดไปก่อน เพื่อป้องกันการระบาด ทั้งนี้ ข้อเสนอเหล่านี้ จะมีการเสนอต่อคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่มี เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธาน (สศช.) ในวันจันทร์ที่ 20 เมษายนนี้ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 21 เมษายนต่อไป ...จะได้ดังต้องการหรือไม่ ต้องรอลุ้นกันสัปดาห์หน้า

      +++ ปิดท้ายกันที่เรื่องของ “หมอทวีศิลป์ - น.พ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน” โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ผู้ที่มีบทบาท และทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดีในการชี้แจง สื่อสารให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เป็นอยู่  สำหรับ “หมอทวีศิลป์” เป็นชาวจังหวัดนครราชสีมา ลูกย่าโม เส้นทางการศึกษาจบที่โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา ระดับมัธยมที่โรงเรียนบุญวัฒนา จบการศึกษาแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นการสอบโควตาของชมรมแพทย์ชนบท พอเรียนจบแพทย์ปี 6 ในปี 2532 ก็เริ่มทำงานที่ ร.พ.จิตเวช นครราชสีมา เป็นเวลา 3 ปี หลังจากนั้นก็ได้เข้าเรียนที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา และได้เข้าทำงานที่นั่น ทำหน้าที่สอนนักศึกษาแพทย์ควบคู่กันไป จนปี 2537 ได้ตัดสินใจเรียนต่อเพิ่มเติมด้านจิตเวช ที่ชิคาโก สหรัฐอเมริกา ด้านประสาทจิตเวชศาสตร์

      +++ ในช่วงที่อยู่ที่ ร.พ.สมเด็จเจ้าพระยา เริ่มทำหน้าที่ตอบคำถามเรื่องจิตเวชผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้ “หมอทวีศิลป์” เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป จนราวปี 2546–2547 ได้ย้ายมาอยู่กับทางกระทรวงสาธารณสุข เริ่มจากการเป็นโฆษกกรมสุขภาพจิต แล้วขึ้นเป็นผู้อำนวยการสำนักสุขภาพจิตและสังคม พร้อมดำรงตำแหน่งโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ...ว่ากันว่า "หมอทวีศิลป์" อยู่ในระดับและตำแหน่งที่กระทรวงสาธารณสุขปัจจุบัน ยาวนานร่วม 10 ปี ในซื่อ มือสะอาด แต่กลับไม่ได้มีโอกาสเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นเสียที ไม่รู้ว่า "จบโควิด" ครั้งนี้ ผลงานจะเข้าตา “ผู้ใหญ่” ปูนบำเหน็จในตำแหน่งที่สูงๆ ขึ้นบ้างหรือไม่...