"กูรู"สะท้อน มาตรฐานบ้านจัดสรร ผู้ประกอบการทำอยู่แล้ว

22 เม.ย. 2563 | 00:15 น.

 “ข้อกำหนดในการจัดสรรที่ดิน ควรเป็นมาตรการฐานกลางๆ ที่ใช้สำหรับการคุ้มครองผู้บริโภค ป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ ส่วนมาตรฐานที่สูงกว่านั้นอยากให้ใช้เป็นทางเลือกหรือเป็นบริการสาธารณะแทนจะดีกว่า”

มุมสะท้อนนายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และยังเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางของกรมที่ดิน ที่ระบุว่า การปลูกต้นไม้เพิ่มจากร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 35 นั้นเห็นด้วย เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการทำได้อยู่แล้ว ซึ่งการปลูกต้นไม้ซึ่งเป็นแลนด์สเคปนั้นมีต้นทุนที่น้อยกว่าการทำฮาร์ดสเคป

ส่วนเรื่องของหลอดประหยัดพลังงาน ที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้ใช้หลอด LED ซึ่งเป็นหลอดไฟประหยัดพลังในโครงการอยู่แล้ว ส่วนการใช้โซลาร์เซลล์นั้นจะต้องใช้ในจุดที่เหมาะสม เพราะหากต้องใช้แบตเตอรี่ ในการสำรองไฟซึ่งต้องเปลี่ยนในทุกๆ 2-3 ปี ราคาค่าเปลี่ยนแบตฯยังแพงกว่าค่าไฟที่จะต้องจ่าย ดังนั้นนอกจากจะ save energy จะต้อง save money ด้วย จึงควรใช้งานในจุดที่ไม่จำเป็นต้องสำรองไฟ เช่น การบำบัดนํ้าเสียในช่วงกลางวัน หรือใช้ในจุดที่สายเมนเข้าไม่ถึง

"กูรู"สะท้อน มาตรฐานบ้านจัดสรร ผู้ประกอบการทำอยู่แล้ว

 ขณะการลดปัญหาจราจรในชุมชนหมู่บ้านจัดสรรด้วยการทำลูกระนาดชะลอความเร็ว สำหรับอาคารพาณิชย์ให้เพิ่มที่จอดรถจาก 1 คันต่อ 1 แปลง เป็น 2 คันต่อ 1 แปลง เพื่ออำนวยความสะดวกผู้มาติดต่อธุรกิจโดยปกติผู้ประกอบการจะทำลูกระนาดเพื่อชะลอความเร็วของรถยนต์ในโครงการอยู่แล้วจึงไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ แต่การเพิ่มที่จอดรถสำหรับอาคารพาณิชย์จาก 1 คันต่อ 1 แปลง เป็น 2 คันต่อ 1 แปลงนั้น จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก สุดท้ายแล้วจะเกิดปัญหาการหลบเลี่ยงการจัดสรรที่ดินตามมา

 

“ปัจจุบันอาคารพาณิชย์จะมีหน้ากว้าง 4 เมตร จอดรถได้ 1 คัน (ที่จอดรถกว้าง 2.5 เมตร) อาคารพาณิชย์ 2 ห้องติดกันจะจอดรถได้ 3 คัน โดยจะกันไว้เป็นที่จอดรถส่วนกลาง 1 คัน แต่ถ้ากำหนดให้ 1 แปลงจอดได้ 2 คัน เท่ากับว่าจะต้องเพิ่มความกว้างของอาคารพาณิชย์เป็น 5 เมตร ซึ่งจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นอีกมาก ถือว่าเกินกว่ามาตรฐานที่ควรกำหนดจึงควรจะใช้เป็นทางเลือก เพราะถ้าอาคารไม่มีที่จอดรถหรือที่จอดไม่พอคนก็ไม่มาใช้บริการ”

สำหรับปัญหาขยะ เห็นด้วยที่ในแต่ละโครงการควรจะต้องทำ แต่สำหรับการเพิ่มพื้นที่พักขยะเปียกจะกลายเป็นพื้นที่ที่สร้างมลภาวะและสะสมเชื้อโรคในโครงการ และไม่มีใครอยากอยู่ใกล้ 

อีกทั้ง การเพิ่มคุณภาพการบำบัดนํ้าเสียในครัวเรือนโดยการเพิ่มคุณภาพบ่อดักไขมัน เป็นสิ่งที่เห็นด้วย และหลายโครงการก็มีการทำบ่อดักไขมันในแต่ละครัวเรือนอยู่แล้ว แต่การจัดทำบ่อบำบัดกลางซึ่งปัจจุบัน หลายๆ จังหวัดยังไม่มีข้อกำหนด ถ้าให้มีการทำบ่อบำบัดกลาง เมื่อไม่ได้อยู่ในความดูของผู้ประกอบการแล้ว คนที่รับภาระต่อจะเป็นนิติบุคคลของหมู่บ้าน ซึ่งไม่สามารถรับรู้ได้ว่ามีการเปิดเครื่องบำบัดหรือไม่ ดังนั้นเรื่องของการบำบัดน้ำเสียควรจะเป็นเรื่องของชุมชน หรือของท้องถิ่นจะเหมาะสมกว่า

 

สำหรับ การป้องกันน้ำเสียและน้ำท่วมให้เพิ่มขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางท่อระบายน้ำจากเดิมไม่น้อยกว่า 40 ซม. เป็นไม่น้อยกว่า 60 ซม. เพื่อให้มีการระบายน้ำและหน่วงน้ำป้องกันน้ำท่วมในชุมชนหมู่บ้าน

เห็นด้วยกับการเพิ่มขนาดท่อระบายน้ำในโครงการให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้ดีขึ้น ซึ่งหลายจังหวัดก็ขอขยายขนาดท่อเป็นขั้นต่ำที่ 60 ซม.อยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ก็ควรเป็นไปตามเห็นของวิศวกร เพราะบางโครงการถนนซอยมีบ้านเพียง 3 หลังจึงไม่จำเป็นต้องใช้ท่อที่ใหญ่ขึ้น เป็นต้น

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,567 วันที่ 19-22 เมษายน 2563