"บ้านจัดสรร’"ถึงเวลาต้องเปลี่ยน"รักษ์โลก"

22 เม.ย. 2563 | 07:15 น.

แม้การปรับแก้ข้อกำหนดการจัดสรรที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2550  ของกรมที่ดินจะเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ  ส่งผลกระทบตามมาคือการผลักภาระให้ผู้บริโภคบวกต้นทุนเกลี่ยเข้าไปในตัวบ้าน  เนื่องจากที่ดินแพง ขณะความเข้มข้นร่างข้อกำหนดใหม่ต้องเว้นพื้นที่ว่าง เป็นพื้นที่สีเขียวจัดทำสวนสาธารณะ ค่อนข้างมากในโครงการบ้านจัดสรร อีกทั้งเพิ่มพื้นที่จอดรถ ซึ่งจะเหลือพื้นที่ขายในเชิงพาณิชย์ลดลง เมื่อเทียบกับข้อกำหนดเดิม 

หากมองในมุมกลับจะเป็นผลดีต่อโครงการ สร้างจุดขายดึงลูกค้า สังเกตุจาก บริษัทรายใหญ่มุ่งเน้นขายโครงการรักษ์โลก สร้างบ้านกันฝุ่น  พัฒนาโครงการเขียว ลดพลังงาน ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม สร้างความนิยมยิ่ง ให้กับคนรักษ์สุขภาพ สิ่งแวดล้อม โครงการคอนโดมิเนียมแนวรถไฟฟ้า เช่นเดียวกัน มาระยะหลังสังเกตุเห็นแต่ละค่ายต่างกันพื้นที่ส่วนกลางสร้างปอดขนาดใหญ่ให้ลูกบ้านอาศัยร่มเงา กรองฝุ่นพิษ นอกจากเทคโนโลยี ที่ ประดิษฐ์ขึ้น แต่นั่นไม่ใช่ทุกโครงการที่มีสำนึกท่ามกลาง  สิ่งแวดล้อมโลกเปลี่ยนเชื้อโรคร้ายที่มองไม่เห็น ย่างกรายเข้ามาอย่างโคโรนา หรือโควิด -19  ฝุ่นจิ๋ว พีเอ็ม 2.5 มีผลอย่างมาก ต่อสุขภาพชีวิตความเป็นอยู่ ในสังคมเมืองแออัด เมื่อกรมที่ดิน ดำริยกร่างแก้ไขปรับปรุง ข้อกำหนดจัดสรรที่ออกตามความในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดสรรที่ดิน พ.ศ 2543 ปรับสิ่งแวดล้อมให้บ้านแต่ละหลังมีภูมิคุ้มกัน ไปพร้อมกับการขยายตัวของเมือง 

นักวิเคราะห์ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ จากเว็บไซต์ thaipropertymentor  สะท้อน แนวคิดในการปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดิน เพื่อยกระดับมาตรกฐานการพัฒนาบ้านจัดสรรให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นของกรมที่ดิน ว่าแม้จะมีเจตนาที่ดี แต่ก็ยังมีประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณากันอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะผลกระทบที่จะลงมาถึงผู้บริโภค ประชาชนคนซื้อบ้าน 

แน่นอนว่า การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ย่อมมาพร้อมกับ ราคาบ้านที่แพงขึ้นไม่มากก็น้อย และอาจทำให้การเข้าถึงที่อยู่อาศัยในระดับพื้นฐานของประชาชนคนทั่วๆ ไป เป็นเรื่องที่ยากลำบากยิ่งขึ้น ถือเป็นการบ้านข้อใหญ่อีกหนึ่งข้อที่กรมที่ดินต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่จะตามมา  

ลองมาฟังความเห็นจาก นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และยังเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง ของกรมที่ดิน ซึ่งมีทั้งมุมที่เห็นด้วยและมุมที่เห็นต่าง เกี่ยวกับการปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินในครั้งนี้ ซึ่งกรมที่ดินตั้งธงเอาไว้ใน 7 หัวข้อใหญ่ด้วยกัน

"บ้านจัดสรร’"ถึงเวลาต้องเปลี่ยน"รักษ์โลก"

นายอิสระ เริ่มต้นด้วยสภาพในปัจจุบัน ซึ่งข้อกำหนดการจัดสรรที่ดิน รวมถึงพ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินที่บังคับใช้กันอยู่ก็มีข้อกำหนดในเรื่องของสิ่งแวดล้อมในโครงการหลายเรื่องอยู่แล้ว เช่น การกำหนดขนาดที่ดินของที่อยู่อาศัยในแต่ละประเภททั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ การกำหนดพื้นที่โล่งว่างในโครงการรวมกันกว่า 30-40% เป็นต้น 

“ข้อกำหนดเหล่านี้ทำให้โครงการบ้านจัดสรรมีความหนาแน่นน้อย มีพื้นที่โปร่งโล่งอยู่มากพอสมควร ทำให้มลภาวะในโครงการนั้นมีน้อยกว่าโครงการประเภทอื่นอยู่แล้ว และมีมาตรฐานที่สูงกว่าที่อยู่อาศัยภายนอกโครงการบ้านจัดสรร ไม่ว่าจะเป็นอาคารชุด หรือบ้านเรือนที่ปลูกสร้างเองอยู่แล้ว”

โดยสรุปการเปิดฉากรับฟังความคิดเห็น ร่างโครงการ “บ้านจัดสรรรักษ์โลก:สะอาด สะดวก สบาย ปลอดภัย” (Go Green Living) มีทั้งเอกชนเห็นด้วยและเห็นต่าง ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย อย่างไรก็ตาม นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน สะท้อนว่า ปัจจุบันประเทศ ไทยมีการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและการขยายตัวของเมืองอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม   ต่างๆ มากมาย กระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาว อาทิ ฝุ่น PM 2.5, ก๊าซเรือนกระจก, ขยะล้นเมือง, ปัญหานํ้าเน่าเสีย และความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชน  กรมที่ดินตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในด้านที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับมาตรฐานบ้านจัดสรรให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด “บ้านจัดสรรรักษ์โลก : สะอาด สะดวก สบาย ปลอดภัย” ที่สอด คล้องกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศและก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ จึงได้จัดทำโครงการ “การปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม กรุงเทพ มหานคร พ.ศ. 2550” ที่ใช้มานานกว่า 10 ปีขึ้นเพื่อยกระดับมาตรฐานบ้านจัดสรร อาทิ ลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 เพิ่มการปลูกต้นไม้ยืนต้น 35%  จากเดิม 25%และส่งเสริมให้ใช้หลอดไฟประหยัดพลังงานที่มีประสิทธิภาพ หรือระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในระบบไฟสาธารณะของหมู่บ้าน ลดปัญหาจราจรในชุมชนหมู่บ้านจัดสรรด้วยการทำลูกระนาดชะลอความเร็ว สำหรับอาคารพาณิชย์ให้เพิ่มที่จอดรถจาก 1 คันต่อ 1 แปลง เป็น 2 คันต่อ 1 แปลง เพื่ออำนวยความสะดวกผู้มาติดต่อธุรกิจ การลดปัญหาขยะล้นเมือง ด้วยการเพิ่มพื้นที่พักขยะและจัดระบบการ

คัดแยกขยะให้มีเนื้อที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น และเพื่อสร้างการมีความร่วมประชาชนอย่างรอบด้าน และนำไปสู่การพัฒนา “บ้านจัดสรรรักษ์โลก : สะอาด สะดวก สบาย ปลอดภัย” ตอบสนองความต้อง การประชาชนอย่างแท้จริง

นอกจากพื้นที่ กทม.แล้วประเมินว่าคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัด แต่ละจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน จะแก้ไขข้อกำหนดฯ รักษ์โลกล้อตามนำพาโครงการอยู่อาศัย สะพรั่งบานน่าอยู่ไปทั่วประเทศ  

โรคร้ายภัยเงียบ  เทียบไม่ได้กับโลกนวัตกรรม...นาทีนี้ถึงคราวต้องเปลี่ยน โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,567 วันที่ 19-22 เมษายน 2563