ยกเลิก ล็อกดาวน์ อย่างไรไม่เสี่ยง

17 เม.ย. 2563 | 12:30 น.

ท่ามกลางข่าวดีไทยเตรียม 'ปลดล็อกดาวน์' บอกตรงๆว่าการพิจารณาหาคำตอบที่เหมาะสม เป็นทางเลือกที่ยากลำบากของรัฐบาล ในการหาจุดสมดุล ระหว่างสุขภาพทางเศรษฐกิจของประเทศกับสุขภาพของประชาชน ควรได้รับการผ่อนคลายหรือยกเลิกอย่างไร เร็วช้าแค่ไหน

 

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย  เพราะข้างหนึ่งของสมการคือชีวิตของผู้คน รวมทั้งโอกาสที่เชื้อดังกล่าวอาจกลับมาระบาดได้อีก หากมาตรการที่นำมาใช้นั้นไม่จริงจัง หรือไม่ได้ผลเพียงพอ  อีกข้างหนึ่งของสมการนั้น คือความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของประเทศ

            

ขณะที่การหาคำตอบเรื่องนี้ก็มีความยุ่งยากมากขึ้น เนื่องจากผู้คนส่วนหนึ่งในสังคมมีข้อจำกัดด้านการดำรงชีวิตและไม่สามารถอยู่นิ่ง ๆ ได้นานเท่าที่จำเป็น รวมทั้งจากความรู้ทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคนี้ที่ยังไม่สมบูรณ์ และดูจะตามหลังโรคนี้อยู่หนึ่งก้าวเสมอ

 

แม้แต่ในประเทศไทย ภาคธุรกิจกำลังกดดันรัฐบาลให้ผ่อนคลายมาตรการจำกัดควบคุม และเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถูกแช่แข็งให้กลับมาเดินได้บ้าง  เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการว่างงานมากกว่านี้

            

ทุกๆฝ่ายยังไม่มีความเห็นพ้องกันเรื่องการผ่อนผันหรือปลดล็อคดาวน์ ที่อาจนำมาใช้ได้ 

            

อย่างที่นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานโควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ของไทยเริ่มดีขึ้นจะผ่อนคลายมาตรการได้หรือไม่ แล้วเมื่อไรจะปลดล็อก จะปลดล็อกอย่างไร ขณะนี้มีการประชุมกันโดยทีมนักวิชาการและด้านต่างๆ ทางแพทย์ สังคม เอกชน เพื่อเตรียมนำเสนอ ผอ.ศูนย์ ศบค. 

 

“ยกตัวอย่างถ้าจะเปิด เช่น ร้านตัดผม ต้องมีการจัดเตรียมสถานที่ เช่น ที่นอนสระผม ห่างกัน 1 เมตร ไม่ให้มีที่นั่งรอในร้าน ให้ใช้บัตรคิวแทน ให้เวลาบริการไม่เกิน 2 ชั่วโมง เฉพาะสระผม ตัดผมเท่านั้น ใส่หน้ากากผ้าทุกคน ทำความสะอาด ยอมรับในกติกานี้หรือไม่ ก็ต้องปฏิบัติให้ได้ด้วยอย่างนี้เป็นต้น” 

            

ฟังๆแล้วดูเหมือนว่ากุญแจสำคัญของเรื่องนี้จะอยู่ที่พฤติกรรมของผู้คนในสังคม มีผลต่อการตัดวงจรการแพร่เชื้อของโควิด19 และมีผลต่อการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ ยังไม่เห็นภาพชัดเจนพอ ว่าจะเริ่มจากส่วนใด กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกับกลุ่มที่เสี่ยงต่ำ เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำสามารถกลับไปทำงานได้

 

อย่างที่นักวิชาการด้านสาธารณสุข ให้ความเห็นว่า แม้ว่าวันนี้ไทยเราจะผ่านจุดที่สุดของการระบาดของไวรัสโควิดไปแล้วก็ตาม แต่หากยกเลิกมาตรการควบคุมเร็วเกินไปและขาดยุทธศาสตร์ที่รอบคอบและเหมาะสมแล้ว ก็จะทำให้เชื้อไวรัสโควิด กลับมาระบาดได้ใหม่เป็นรอบสอง และจะทำให้ผลของการเสียสละจากทุกฝ่ายที่ได้ทำไว้ตั้งแต่แรกนั้นต้องถูกลบไปโดยสิ้นเชิง

                        

อย่างที่องค์การอนามัยโลกหรือWHO ออกม เตือนทุกประเทศยกเลิกล็อกดาวน์ต้องผ่าน 6 ข้อสำคัญ 1.ต้องควบคุมการระบาดในประเทศได้ 2.ระบบสุขภาพต้องดี 3.พื้นที่เสี่ยงมากสุดต้องเสี่ยงน้อยสุด 4.สถานที่ต่างๆ มีมาตรการป้องกันโรค 5.จัดการความเสี่ยงคนมาจากต่างประเทศ และ6คนในชุมชนใช้ชีวิตใหม่หลังเกิดโรคได้ 

สำหรับข้อที่ 6  สำคัญมากสำหรับประเทศไทยในการพิจารณาผ่อนปรนล็อกดาวน์  เพราะขนาดยังมีมาตรการห้ามอยู่ ก็ยังมีกลุ่มตั้งวงสุรา เล่นการพนันกันอยู่เลย  หากว่าคนไทยได้เรียนรู้จากข้อนี้และปฏิบัติตามได้ดี จะเป็นข้อต่อสำคัญที่จะทำให้รัฐบาลตัดสินใจผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ได้ เพื่อให้เศรษฐกิจในประเทศยังคงเคลื่อนตัว ขณะที่ยังสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้

 

 สอดรับกับบทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือSCBSที่ระบุว่า มีบางประเทศเริ่มมีโอกาส เช่น จีน เยอรมนี  ไทย และอิหร่าน ที่เข้าเกณฑ์ที่ 1 และ 2 โดยฝรั่งเศสและสเปนอาจเป็นลำดับถัดไป หลังจากเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ที่ประเทศดังกล่าวจะเริ่มพิจารณาการยกเลิกล็อกดาวน์บางส่วนในเดือนพฤษภาคมนี้

            

 SCBS ยังชี้ให้เห็นว่า การยกเลิกล็อกดาวน์มีความจำเป็น เนื่องจากเป็นการช่วยลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชน รวมถึงภาระงบประมาณและหนี้ของภาครัฐบาลที่กำลังเพิ่มขึ้น ยิ่งการล็อกดาวน์ดำเนินไปนานแค่ไหนก็จะยิ่งสร้างผลกระทบต่ออัตราการชะลอตัวของเศรษฐกิจให้ลึกลงไปมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเพื่อกลับไปที่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น

            

ทั้งนี้ SCBS คิดว่าการยกเลิกล็อกดาวน์ควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยดูอัตราการกลับมาแพร่ระบาดว่ายังคงเข้าเกณฑ์ที่ 1 และ 2 หรือไม่ หากเข้าเกณฑ์ก็สามารถทยอยปลดล็อกไปได้เรื่อยๆ จนกว่าจะเห็นสัญญาณว่าจะรับมือไม่ได้แล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงการกลับไปล็อกดาวน์รอบใหม่

            

อย่างไรก็ตาม ต้องมีการเปลี่ยนพฤติกรรมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดอยู่ในระดับที่การแพทย์รับมือได้ เช่น การทำ Social Distancing ยังจำเป็นต่อไป การรักษาสุขอนามัยทั้งส่วนรวมและส่วนบุคคล และที่สำคัญที่สุด คือการสร้างฐานข้อมูลของประชาชนเกี่ยวกับโอกาสที่จะติดเชื้อ เพื่อให้สามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้รวดเร็วมากขึ้น