ยึดอำนาจนักการเมือง รัฐราชการ บริหารเบ็ดเสร็จ

17 เม.ย. 2563 | 11:40 น.

คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3567 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 19-22 เม.ย.63 โดย... กระบี่เดียวดาย

 

          ปฏิบัติการสู้โควิด -19 ของรัฐบาลลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้มข้นเขม็งเกลียวขึ้นทุกขณะ ตั้งแต่ประกาศพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินโรคระบาดโคโรน่า

          แม้จะเป็นรัฐบาลผสมภายใต้พรรคแกนนำหลักอย่างพลังประชารัฐ และประกอบไปด้วยพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทย ชาติพัฒนา และพรรคเล็กพรรคน้อย

          แต่จังหวะของการปิดสมัยประชุมสภาและโรคระบาดที่คุกคามรุนแรง จำเป็นต้องอาศัยความเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก พร้อมกับการปรับลด-เพิ่มกฎระเบียบในการทำงานให้อำนายความสะดวกอย่างเต็มที่ ความคุ้นชินทางการบริหารแบบเบ็ดเสร็จนี้ นำไปสู่การริบคืนอำนาจหลายประการจากนักการเมืองและพรรคร่วมรัฐบาล

 

          ก่อนที่จะนำอำนาจอนุมัติ อนุญาตตรวจสอบ เหล่านั้นไปใส่มือข้าราชการระดับสูงในแต่ละกระทรวง ทบวง กรม

          กลายเป็นการบริราชการแบบ รัฐราชการ ที่ขับเคลื่อนโดยระบบราชการเป็นแกนหลัก และหัวหน้าทีมมาจากตัวนายกฯ ซึ่งภูมิหลังก็คือข้าราชการ

          ลองไล่เรียงไทม์ไลน์ก็จะเห็นชัดขึ้น 26 มี.ค. ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, 27 มี.ค. ตั้งปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อโควิด-19

          ตั้งปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านการควบคุมสินค้า, ตั้งปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการกระจายหน้ากากและเวชภัณฑ์สำหรับประชาชน

          หลังจากนั้นมีการแต่งตั้ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์

          ตามมาด้วยตั้งปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านคมนาคมและการขนส่งทั่วราชอาณาจักร

          8 เม.ย. ตั้ง “หน่วยงานพิเศษ” คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนใน ศบค. เพื่อทำหน้าที่ในการเข้าร่วมประชุมเพื่อให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ การป้องกัน และแก้ไขปัญหาของภาคธุรกิจเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 หน่วยงานที่ร่วมคือ ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทยประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย

          14 เม.ย. ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการพัสดุการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคโควิด

          15 เม.ย.ตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลด้านผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำหน้าที่ติดตาม รวบรวม และบูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิค-19 รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน ตรวจสอบการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ตามมาตรการต่างๆ ของรัฐ วิเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 มีความครอบคลุม ทั่วถึง และเป็นธรรม

          พร้อมกำกับดูแลและตรวจสอบการดำเนินมาตรการชดเชยรายได้ และเสนอแนะกลไกขั้นตอนการดำเนินงาน ที่กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือเยียวยาได้อย่างแท้จริง เสนอต่อนายกรัฐมนตรี หรือศูนย์ปฏิบัติการด้านมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประชาชน เพื่อให้การจัดทำมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึงโดยเร็ว

 

          คณะกรรมการ ประกอบด้วย 1.ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการ 11 ท่าน คือ

          ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และ ผู้อำนวยการสำนักงานงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นกรรมการและเลขานุการ

          คณะกรรมการชุดนี้ ไม่มีรัฐมนตรี หรือนักการเมือง เข้าร่วมเป็นกรรมการแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน คณะกรรมการชุดต่างๆ ก่อนหน้านี้ ก็ไม่ได้ใช้บริการของรัฐมนตรี หรือ นักการเมืองมากนัก

          คณะกรรมการ 11 อรหันต์ภายใต้การอำนวยการของนายกฯชุดนี้ เป็นคณะกรรมการที่ดูแลการใช้เงินกู้ร่วม 1 ล้านล้านบาท จึงเป็นคณะที่สำคัญยิ่ง ชี้เป็น ชี้ตาย ทั้งธุรกิจ ชีวิตและนักการเมือง

          ว่ากันว่าประเทศที่พัฒนาไปไม่ถึงไหน เพราะเราติดกับดักของระบบราชการที่อุ้ยอ้าย ขาดประสิทธิภาพและเต็มไปกฎข้อบังคับนานัปประการที่เป็นตัวถ่วง

          กระนั้นการให้อำนาจการเมืองเต็มร้อยโดยการขาดการถ่วงดุลตรวจสอบก็อันตรายยิ่งนัก เพราะนักการเมืองมักยื่นให้สิบแต่หยิบกลับคืนมาร้อย

          เกิดเป็นคนไทย ไม่มีสิทธิเลือกที่ดีที่สุดจริงๆ

          ห้วงเวลานี้ จำต้องอยู่กับกลุ่มผลประโยชน์ที่ทรงพลังยาวนานอย่างพรรคราชการไปก่อน

          อยู่ภายใต้ระบบรัฐราชการ ที่ยังคงคาดหวังการนำพาผ่านพ้นโพยภัยโควิด-19 ไปด้วยกัน

          รอดโควิด แต่ติดบ่วงความหิวโหย ก็ไม่รอดเหมือนกัน !!