ที่ประชุมบอร์ดกบง.ให้คงราคาขายปลีกก๊าซ LPG เดือนเม.ย.59 ไว้ที่ 20.29 บาท/กก.

05 เม.ย. 2559 | 10:42 น.
สำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน รายงานผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วันที่ 5 เมษายน 2559

โครงสร้างราคาก๊าซ LPG เดือนเมษายน 2559

•ปัจจุบันราคาก๊าซ LPG ตลาดโลก (CP) อยู่ที่ระดับ 332 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 30 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ในขณะเดียวกันอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นจากเดือนก่อน 0.3664 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ 35.4031 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่น ซึ่งเป็นต้นทุนเฉลี่ยของการจัดหาก๊าซ LPG ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3459 บาท/กก. จาก 13.6826 บาท/กก. เป็น 14.0285 บาท/กก. อย่างไรก็ดี เพื่อไม่ให้การผันผวนของราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศ ประกอบกับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของก๊าซ LPG ยังคงมีเสถียรภาพ ดังนั้น ที่ประชุม กบง. จึงเห็นควรให้คงราคาขายปลีกก๊าซ LPG เดือนเมษายน 2559 ไว้ที่ 20.29 บาท/กก. โดยให้กองทุนน้ำมันฯ รับภาระชดเชยเพิ่มขึ้นอีก 0.3459 บาท/กก. จากเดิมชดเชย 0.3636 บาท/กก. เป็นกองทุนน้ำมันฯ ชดเชยอยู่ที่ 0.7095 บาท/กก. ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2559 เป็นต้นไป

•ผลจากการปรับเพิ่มอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของก๊าซ LPG มีรายจ่ายอยู่ที่ 263 ล้านบาท/เดือน ทั้งนี้ สำหรับฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 3 เมษายน 2559 อยู่ที่ประมาณ 44,507 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG อยู่ที่ 7,213 ล้านบาท และ 2) ในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 37,294 ล้านบาท

 

การยกเลิกการชดเชยส่วนลดราคาก๊าซธรรมชาติจากการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนอม

ในช่วงปี 2553 ปริมาณการใช้ก๊าซ LPG ในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่การผลิตในประเทศไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีการนำเข้า แต่เนื่องจากราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกอยู่ในระดับสูงกว่า 680 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน รัฐจึงได้มีนโยบายเพิ่มปริมาณการจัดหาก๊าซ LPG ในประเทศ โดยหนึ่งในมาตรการคือ การเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนอมเพื่อให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 4 (ขนอม) สามารถเดินเครื่องผลิตก๊าซ LPG ได้เพิ่มขึ้น และให้กองทุนน้ำมันฯ รับภาระชดเชยส่วนลดราคาก๊าซธรรมชาติให้กับ กฟผ. จากการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าดังกล่าว เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน ทั้งนี้ ผลจากการดำเนินมาตรการฯ พบว่า สามารถประหยัดเงินชดเชยจากการนำเข้าก๊าซ LPG ได้ถึง 11,890 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559 โรงไฟฟ้าทดแทนขนอม ชุดที่ 1 ที่สร้างขึ้นใหม่ในพื้นที่เดิม ขนาด 930 เมกะวัตต์ จะเริ่มทดสอบการทำงานทั้งระบบ ส่งผลให้สามารถเรียกปริมาณก๊าซธรรมชาติเพียงพอที่จะทำให้โรงแยกก๊าซขนอมสามารถเดินเครื่องผลิตก๊าซ LPG ได้เอง ดังนั้น ที่ประชุม กบง. จึงเห็นชอบให้ยกเลิกชดเชยส่วนลดราคาก๊าซธรรมชาติจากการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนอม ตั้งแต่วันที่เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) เป็นต้นไป