คอสเมติก 3 แสนล้านทรุด  เซ่นโควิด-19  จี้ปรับแผนพยุงธุรกิจ

19 เม.ย. 2563 | 03:36 น.

อุตฯเครื่องสำอาง3 แสนล้านบาททรุดหนัก เซ่นพิษโควิด-19 ภาคส่งออกจ่อติดลบ 10% หลังทั่วโลกวิกฤติ บิ๊กคลัสเตอร์สุขภาพฯ แนะผู้ประกอบการเร่งปรับตัว วอนรัฐกำหนดราคากลาง หลังวัตถุดิบหลายตัวราคาพุ่ง “คาร์มาร์ท” ฮึดสู้โยกไลน์ผลิตสินค้าความสะอาด ลุยออนไลน์ปั๊มยอด

 

วิกฤติอย่างต่อเนื่องสำหรับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ที่ส่งผลกระทบต่อหลายภาคอุตสหากรรมทั้งอุปโภค-บริโภค ที่ต้องเร่งปรับทัพเพื่อให้อยู่รอด และไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมเครื่องสำอางที่ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ลดลง ภาคการส่งออก นำเข้าที่ไม่สามารถทำได้ ทำให้หลายผู้ประกอบการต้องเร่งปรับแผนงานเพื่อรักษาความอยู่รอด

 

นางเกศมณี เลิศกิจจา ประธานกลุ่มคลัสเตอร์สุขภาพและความงาม ประธานกลุ่มเครื่องสำอางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในส่วนของการส่งออกมูลค่า 1.2 แสนล้านบาท ที่ลดลง 5.7% และหากสถานการณ์ไม่คลี่คลายก็ยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าในสิ้นปีนี้จะติดลบถึง 10% ขณะที่สถานการณ์ตลาดในประเทศก็ยอมรับว่าไม่แตกต่างกันมากนัก เนื่องจากการระบาดกำลังวิกฤติไปทั่วโลก ทำให้ประชาชนไม่มีอารมณ์การจับจ่ายหรือแต่งตัว

คอสเมติก 3 แสนล้านทรุด  เซ่นโควิด-19  จี้ปรับแผนพยุงธุรกิจ

 

“สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปีนี้ถือว่าส่งผลกระทบมากที่สุดตั้งแต่มีการส่งออกเครื่องสำอางมา ซึ่งหากเปรียบเทียบกับวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ตลาดเครื่องสำอางเมืองไทยยังสามารถเติบโตได้ 20% จากความผลักดันเรื่องของการส่งออกภาครัฐ แต่ปีนี้วิกฤติต่างๆ ลามไปทั่วโลกจึงเป็นเรื่องที่ยากต่อการประเมิน”

  คอสเมติก 3 แสนล้านทรุด  เซ่นโควิด-19  จี้ปรับแผนพยุงธุรกิจ

                                                 เกศมณี เลิศกิจจา

สำหรับผู้ประกอบการเครื่องสำอางในไทย ช่วงที่ผ่านมามีการปรับแผนการขายไปยังช่องทางออนไลน์ทำให้ยังสามารถรักษาการเติบโตไว้ได้ เนื่องจากสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ขณะที่ผู้ประกอบการบางส่วนก็ปรับไลน์การผลิตไปยังกลุ่มชำระล้างและทำความสะอาดทั้งเจลล้างมือ และแอลกอฮอล์ล้างมือ แต่กลับพบว่า มีปัญหาในเรื่องของแอลกอฮอล์ที่ใช้เป็นส่วนผสมหลักในการผลิตถือเป็นสินค้าควบคุม มีราคาแพงและมีปัญหาเรื่องการขนส่งที่ซับซ้อน จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือและกำหนดราคากลาง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถลืมตาอ้าปากและส่งออกได้

 
 

 

“ต้องยอมรับว่าภาคการส่งออกเครื่องสำอางไปยังหลายประเทศไม่สามารถทำได้และส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างหนัก และแม้สถานการณ์ในหลายประเทศจะเริ่มคลี่คลายโดยเฉพาะในจีน แต่กว่าภาคการผลิตและส่งออกในจีนจะสามารถส่งวัตถุดิบหรือหัวปั๊มซึ่งถือเป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับกลุ่มเครื่องสำอางมายังไทยได้ ก็ต้องใช้เวลาอีกเป็นเดือน ดังนั้นระหว่างนี้เราจะต้องมีการบริหารจัดการและแก้ไขสถานการณ์ให้ได้”

 

ด้านนายพงศ์วิวัฒน์ ทีฆคีรีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานการตลาดและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ บริษัท คาร์มาร์ท จำกัด (มหาชน) ผู้นำเข้า ส่งออก และจัดจำหน่ายเครื่องสำอาง อาทิ แบรนด์คาร์มาร์ท (Karmart), เคที่ ดอลล์ (CATHY DOLL) กล่าวว่า หลังจากมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปีทำให้บริษัทต้องปรับแผนงานรองรับ โดยล่าสุดได้ปรับไลน์การผลิตสินค้าของโรงงานไปผลิตสินค้ากลุ่มทำความสะอาดและกลุ่มชำระล้างแทน ไม่ว่าจะเป็น เจลแอลกอฮอล์ ทิชชู่เปียก เป็นต้น โดยผลิตเพื่อจำหน่ายในช่องทางต่างๆรวมถึงเซเว่น อีเลฟเว่นทั่วประเทศ และส่งออกไปยังประเทศอังกฤษ สิงคโปร์ จีน ฮ่องกง เป็นต้น

 

 

“แผนเปิดตัวสินค้าใหม่ที่เคยวางไว้เราได้เลื่อนออกไปทั้งหมด และหันมาปรับไลน์ผลิตสินค้าในเป็นกลุ่มทำความสะอาดและชำระล้างแทนตั้งแต่ช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้สามารถผลิตสินค้าได้ทันต่อความต้องการทั้งในและต่างประเทศ โดยมีราคาที่ถูกว่ากว่าท้องตลาดราว 50%”

 

พร้อมกันนี้ยังได้ปรับช่องทางการจำหน่ายไปยังออนไลน์มากขึ้น ทั้งมาร์เก็ตเพลสต่างๆ ช่องทางออนไลน์ของห้างสรรพสินค้า ร้านเครื่องสำอาง เพื่อรองรับความต้องการในช่วงนี้ ควบคู่กับการไลฟ์สดขายสินค้าผ่านเพจทางการของบริษัท โดยนำร่องสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ก่อนจะเพิ่มเป็นทุกวันในสัปดาห์หน้า

  คอสเมติก 3 แสนล้านทรุด  เซ่นโควิด-19  จี้ปรับแผนพยุงธุรกิจ

อย่างไรก็ตามแม้จะมีการปรับแผนงานไปยังช่องทางออนไลน์มากขึ้นแต่ก็ยังไม่สามารถบาลานซ์รายได้ทดแทนช่องทางออฟไลน์ที่บริษัทมีการวางจำหน่ายครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศจำนวนมากได้ บริษัทจึงยังไม่สามารถประเมินยอดขายหรือผลกระทบได้ และยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์แบบวันต่อวัน

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,566 วันที่  16-18 เมษายน 2563