“จีน-ไทย”เห็นพ้องตั้งกองทุนสู้โควิด-19

15 เม.ย. 2563 | 03:00 น.

วงประชุมอาเซียน+3 “จีน-ไทย”เห็นพ้องตั้งกองทุนรับมือโควิด-19 ร่วมแก้ปัญหา วางกลไกเตรียมความพร้อมในกรณีฉุกเฉิน ร่วมมือวิจัยวัคซีน ผลิตนวัตกรรมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพิ่มความเชื่อมั่นในภูมิภาค 


วันนี้( 15 เม.ย.63) พล.ต.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ และผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ประมวลและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีจีนร่วมการประชุมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) วาระพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผ่านระบบทางไกล เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 14 เม.ย.63 ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้ 


1.นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ได้กล่าวถึงการเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันในอนาคต โดยต้องดำเนินการเพื่อเอาชนะโควิด-19 ให้ได้โดยเร็ว ซึ่งนอกจากจะคุกคามต่อสุขภาพและชีวิตของผู้คนแล้ว ยังทำให้เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากการหดตัวของอุปสงค์และอุปทาน รวมถึงเกิดความผันผวนในตลาดการเงินและการค้า ตลอดจนการลงทุนที่ซบเซา 

ดังนั้น อาเซียนและประเทศคู่เจรจาบวกสามจึงควรแก้ไขปัญหาวิกฤติร่วมกัน โดยวางกลไกการเตรียมความพร้อมในกรณีฉุกเฉินสำหรับต่อสู้กับโรคระบาด และเพิ่มบทบาทในเชิงบวกของการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการต่อสู้กับการแพร่ระบาดร่วมกัน และช่วยเหลือกันในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งเพิ่มความเชื่อมั่นในภูมิภาค 


                                                       “จีน-ไทย”เห็นพ้องตั้งกองทุนสู้โควิด-19

 

2.ข้อสังเกต
     2.1 แนวคิดที่นายกรัฐมนตรีจีนได้กล่าวถึงดังกล่าวนั้น มีความสอดรับและสนับสนุนกับข้อเสนอของไทย โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งได้เข้าร่วมการประชุมฯ และเสนอแนวทางสำคัญ 3 แนวทาง กล่าวคือ
            2.1.1 จัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 โดยจัดสรรเงินที่มีอยู่แล้ว จากกองทุนเพื่อการพัฒนาอาเซียน กองทุนความร่วมมือกับจีน ญี่ปุน เกาหลีใต้ และอาเซียนบวกสาม หรือเท่าที่สามารถตกลงกันได้ เพื่อรองรับผลกระทบ ทั้งในระยะสั้น ในการเป็นทุนสำหรับจัดซื้อชุดตรวจ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ยังขาดแคลน ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และในระยะยาว เพื่อสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อคิดค้นวัคซีนและยา
            2.1.2 ใช้ประโยชน์จากกลไกความร่วมมืออาเซียนบวกสาม ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเสนอให้ใช้ประโยชน์จากกลไกความร่วมมือด้านสาธารณสุขที่มีอยู่แล้ว ร่วมกับการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ในการผลิตนวัตกรรมเพื่อป้องกันและรับมือการแพร่ระบาด และความท้าทายอื่นๆ ในอนาคต  
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังเสนอให้สำนักเลขาธิการอาเซียนและสำนักเลขาธิการความร่วมมือไตรภาคี (TCS) รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนโยบายและมาตรการของแต่ละประเทศ รวมทั้งใช้ประโยชน์จากมาตรการริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคี (CMIM) เพื่อบรรเทาผลกระทบและสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินในภูมิภาค ในกรณีที่จำเป็น
           2.1.3 ส่งเสริมทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในมิติต่าง ๆ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้นำอาเซียนบวกสามเห็นพ้องในปีที่ผ่านมา ทั้งการศึกษา การติดต่อสื่อสาร และการค้า การลงทุน พร้อมเร่งใช้เศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีใหม่ ๆ และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ MSMEs รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือเพื่อลดผลกระทบจากข่าวปลอม 
     2.2 ก่อนหน้านั้น นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวเน้นในการประชุมสุดยอดอาเซียน เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 14 เม.ย.63 ว่า รัฐบาลไทยจะสนับสนุนการวิจัยเชิงรุกเพื่อพัฒนาและจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ การพัฒนาวัคซีนสำหรับโควิด-19 และการพัฒนาระบบสนับสนุนโดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ ทั้งนี้ ไม่มีประเทศใดสามารถต่อสู้กับภัยคุกคามนี้ได้โดยลำพัง พร้อมทั้งเสนอแนวทางที่สำคัญ 5 ประการ ได้แก่
             2.2.1 อาเซียนต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม พร้อมเสนอให้อาเซียนและประเทศคู่เจรจาบวกสามร่วมกันจัดตั้ง “กองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19” โดยจัดสรรเงินที่มีอยู่แล้วเท่าที่สามารถตกลงกันได้ มาใช้ในการรับมือกับโควิด-19 ซึ่งรวมถึงการจัดซื้อชุดตรวจ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และอุปกรณ์การแพทย์ ตลอดจนเพื่อการศึกษาวิจัยคิดค้นยาและวัคซีน ให้อาเซียนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว
            2.2.2 อาเซียนควรต้องร่วมกันในการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์การผ่านพิธีการศุลกากร และการค้าชายแดนระหว่างกัน เพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสินค้าที่จำเป็นในช่วงวิกฤติอย่างเพียงพอและทันท่วงที
            2.2.3 ควรสนับสนุนให้อาเซียนใช้เศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีใหม่ ๆ และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคให้มากขึ้น เร่งรัดการเชื่อมโยงการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะการใช้มาตรฐานรหัสคิวอาร์ที่เชื่อมโยงกันได้ ให้การค้าภายในภูมิภาคมีความคล่องตัวมากขึ้น
            2.2.4 อาเซียนควรถอดบทเรียนและประสบการณ์จากการต่อสู้กับโควิด-19 เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่อาจคุกคามชีวิตของประชาชนในอนาคต โดยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งจากภายในและการพึ่งพาตนเองของภูมิภาคในระยะยาวให้มากขึ้น
             2.2.5 ควรเสริมสร้างบทบาทของเลขาธิการอาเซียนในการเป็นผู้ประสานงานการให้ความช่วยเหลือให้ครอบคลุมถึงสถานการณ์วิกฤติอื่นๆ ให้เป็นไปอย่างมีระบบ และทันเหตุการณ์
 
 

 

บทสรุป แนวคิดของนายกรัฐมนตรีจีน มีความสอดรับและสนับสนุนกับประเด็นที่นายกรัฐมนตรีไทยเสนอ ต่อกรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก ได้ส่งผลกระทบต่อทั้งชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจและสังคมด้วย โดยมีการคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก (GDP) ในปีนี้อาจจะติดลบถึงร้อยละ 1.5 และหากวิกฤติโควิด-19 ยืดเยื้อต่อไป อาจจะติดลบถึงร้อยละ 4.7 ซึ่งทุกประเทศต้องมีความร่วมมือกัน และควรนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ ทั้งนี้ เนื่องจากไม่มีประเทศใดสามารถต่อสู้กับภัยคุกคามนี้ได้โดยลำพัง