ทำอย่างไรครัวเรือนเกษตรกร จะได้รับการเยียวยาครบถ้วน?

14 เม.ย. 2563 | 23:25 น.

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำเสนอบทความ ของ รศ.ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ หัวข้อ ในเว็บไซต์หัวข้อ ทำอย่างไรครัวเรือนเกษตรกร จะได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลครบถ้วน ? ใจความว่า

ครัวเรือนเกษตรกรซึ่งผลิตอาหารเลี้ยงคนไทยมาหลายชั่วคน ปัจจุบันอายุเฉลี่ยก็มากกว่า 57 ปีแล้วตามสถิติของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) มีอยู่ 5.9 ล้านครัวเรือน ในปี 2561

เกษตรกรเหล่านี้มีรายได้เพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ยประมาณร้อยละ 7.6 ต่อปีซึ่งดูดีมีอนาคต แต่เมื่อเจาะลึกลงไปจะพบว่าไม่เป็นความจริง พวกเขามีรายได้เพียง 370,000 บาทต่อครัวเรือน เป็นรายได้จากการเกษตรจริงๆ เพียงร้อยละ 53 เท่านั้น รายได้อีกส่วนหนึ่งร้อยละ 47 มาจากกิจกรรมที่ไม่ใช่การเกษตร โดยเฉลี่ยภาพรวมรายจ่ายยังน้อยกว่ารายได้ ทำให้เหลือรายได้สุทธิ 74,483 บาทต่อครัวเรือน และใช้เงินส่วนนี้ดูแลสมาชิกในครัวเรือนเฉลี่ย 3.83 คน คิดเป็นรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อครัวเรือนต่อปี 19,447 บาทหรือเฉลี่ยวันละ 53 บาท

แต่ละครัวเรือนมีหนี้สูงถึง 212,586 บาทต่อปี ซึ่งเป็นหนี้สินที่ต้องชำระทุกปีจากรายได้ อย่างไรก็ไม่พอใช้หนี้ ที่เกษตรกรอยู่ได้ก็ด้วยการใช้วิธี “ผลัดผ้าขาวม้า” คือหมุนเวียนคืนเงินกู้เก่าแล้วกู้ไปใช้จ่ายปีต่อไปเกษตรต้องเป็นหนี้กับ ธ.ก.ส. ไปตลอดชีวิต

ในหลายฤดูการผลิตช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เกษตรประสบปัญหาราคาพืชผลตกต่ำต่อเนื่อง และปีที่เพิ่งผ่านมาเกษตรกรต้องประสบภัยแล้งรายได้ไม่พอรายจ่าย ไม่พอใช้หนี้และเมื่อต้นปีก็มีปัญหาการระบาด โควิด-19 ซึ่งดูเหมือนไม่ได้กระทบการเกษตรโดยตรงแต่เป็นที่ทราบกันว่ารายได้บางส่วนที่จุนเจือครอบครัวเกษตรกรนั้นเป็นรายได้ที่ครอบครัวช่วยกันหามาจากรายได้นอกการเกษตร หรือเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ครอบครัว

เมื่อธุรกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลง และรัฐใช้หลายมาตรการ เช่น ใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ ห้ามบุคคลออกนอกบ้านบางช่วงเวลา ให้ประชาชนอยู่กับบ้าน สถานประกอบการที่สุ่มเสี่ยงต่อคนมาชุมนุมจำนวนมากต้องปิดตัวลง (shut down) ห้ามเคลื่อนย้ายไปจังหวัดอื่นโดยไม่จำเป็น

หลายจังหวัด lock down ตัวเอง ประชาชนต้องอยู่ห่างกันในลักษณะ social distancing ปิดสนามบินและ/หรือจำกัดเที่ยวบินเพื่อไม่ให้ผู้โดยสารเป็นพาหะในการนำโรคจากภายนอกเข้ามาเพิ่มเติมในประเทศ

และอีกหลายมาตรการที่รัฐนำมาใช้เพื่อหยุดยั้งไม่ให้ โควิด-19 แพร่กระจายไปยังประชากรจำนวนมากและต้องการให้มาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุขมีประสิทธิภาพที่สุดในการหยุดยั้งโรคที่ยังไม่มียารักษาโดยตรงและยังไม่มีวัคซีนป้องกัน จึงไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเหตุการระบาดของโควิด-19 นี้จะหยุดลงเมื่อไร

จากประสบการณ์ของประเทศที่เป็นจุดเริ่มของการแพร่ระบาด คือ จีนนั้นสถานการณ์เริ่มดีขึ้น โดยใช้เวลาเกือบสามเดือนที่ทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดนิ่งเกือบหมดและก็อยู่ในช่วงเฝ้าระวังซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อไรประชาชนจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปรกติซึ่งประเทศไทยก็คงประสบปัญหาไม่ต่างกัน

ด้วยเหตุผลต่างๆนานาที่กล่าวมา รัฐบาลก็เล็งเห็นว่าหลายอาชีพต้องถูกกระทบจากการใช้มาตรการที่เข้มงวดของรัฐจึงได้จัดสรรงบประมาณหลายแสนล้านเพื่อเยียวยาประชากรกลุ่มต่างๆที่ต้องเดือดร้อนจากมาตรการดังกล่าวโดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ที่เดือดร้อนหรือคิดว่าตัวเองเดือดร้อนได้ทำการลงทะเบียน เราไม่ทิ้งกันเพื่อขอรับสิทธิ

ปัจจุบันมีผู้แจ้งขอรับความช่วยเหลือจากรัฐมากกว่า 27 ล้านคนบางกลุ่มที่รัฐบาลได้คัดกรองแล้วว่าเดือดร้อนมากที่สุดก่อนและได้เริ่มทยอยจ่ายเยียวยารอบแรกคนละ 5,000 บาทคนละ 3 เดือน การเยียวยาส่วนนี้รัฐบาลได้เตรียมเงินไว้ถึง 1.0 ล้านล้านบาทหรือประมาณร้อยละ 5.3 ของจีดีพี ซึ่งรัฐคงไม่สามารถจะช่วยเหลือได้ทุกคนจึงต้องมีการคัดกรองเพื่อให้รัฐสามารถจ่ายเงินให้กับผู้เดือดร้อนจริงๆและอยู่ในกรอบงบประมาณที่รัฐสามารถหามาได้ ซึ่งยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะข้อมูลที่ใช้คัดกรอง

เกษตรกรซึ่งเป็นอาชีพกลุ่มใหญ่ของประเทศก็เป็นกลุ่มที่รัฐต้องการให้ความช่วยเหลือเยียวยาเช่นกันซึ่งเป็นเรื่องที่ดีแต่ตัวเลขครัวเรือนเกษตรกรยังไม่นิ่งจากตัวเลขของ สศก. จำนวนครัวเรือนเกษตร 5.9 ล้านครัวเรือนโดยมีตัวเลขลูกค้า ธ.ก.ส. ประมาณ 6 ล้านคนและเมื่อรวมสมาชิกสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มอื่นๆรวมแล้วก็ได้จำนวน 9 ล้านราย ซึ่งทุกหน่วยงานที่มีรายชื่อเกษตรกรเหล่านี้อยู่ก็สามารถโอนเงินให้เกษตรกรได้ทันทีที่รัฐมีเงิน

อย่างไรก็ตามผู้เขียนลองใช้ข้อมูลจากฐานอื่น คือ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ จากชุดการสำรวจการมีงานทำของประชากร ไตรมาส 3 ปี 2562 โดยการคัดกรองครัวเรือนที่มีคนทำการเกษตร 1 คนพบว่ามีครัวเรือนลักษณะนี้ถึง 18.83 ล้านครัวเรือน โดยสามารถจัดแบ่งแรงงานกลุ่มนี้ออกเป็น 7 กลุ่ม

(1) ทำการเกษตรอย่างเดียว 11.81 ล้านคนเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด (2) กลุ่มสมาชิกเป็นพนักงานบริการ พนักงานขาย พนักงานการตลาด ค้าขาย online ประมาณ 1.94 ล้านคน (3) กลุ่มสมาชิกทำอาชีพพื้นฐาน เช่น รับจ้างการเกษตร รับจ้างทั่วไป เป็นต้น ประมาณ 1.76 ล้านคน (4) กลุ่มสมาชิกทำธุรกิจที่ต้องใช้ทักษะสูง ประมาณ 1.17 ล้านคน (5) กลุ่มสมาชิกเป็นช่างเทคนิคงานวิชาชีพชั้นสูง เช่น เป็นข้าราชการหน่วยงานต่างๆ ประมาณ 1.08 ล้านคน (6) กลุ่มสมาชิกลูกจ้างแรงงาน ประมาณ 0.72 ล้านคน และ (7) กลุ่มสมาชิกที่ทำงานเป็นเสมียน ประมาณ 0.35 ล้านคน

ทำอย่างไรครัวเรือนเกษตรกร จะได้รับการเยียวยาครบถ้วน?

ถ้าจะทำการคัดกรองอีกชั้นเพื่อให้ได้คนที่เดือดร้อนและเกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรก็จะพบว่า กลุ่มสมาชิก 2-7 โดยไม่รวมกลุ่มที่ 3 มีรวมกัน 4.18 ล้านคนก็จะเหลือครัวเรือนในกลุ่มทำการเกษตร กลุ่ม 1 และ กลุ่ม 3 จำนวน 13.57 ล้านคน ซึ่งจำนวนที่นำเสนอนี้ถ้าเทียบเพียงกลุ่มที่ 1 จำนวน 11.81 ล้านคนก็มากกว่าที่ ธ.ก.ส. เคยเสนอไว้ 9 ล้านคนซึ่งถ้าจะยึดถือจำนวนนี้ก็คงมีเกษตรกรอีกหลายล้านคนที่ต้องผิดหวังและต้องอยู่อย่างยากลำบากในช่วงการระบาดโควิด-19 ยังไม่หยุดระบาด

การช่วยเหลือเกษตรกรและครัวเรือนเกษตรกรดังได้แสดงสถิติไปแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาครัวเรือนที่สมาชิกทุกคนทำการเกษตร ดังนั้นรัฐบาลจะใช้วิธีการคัดกรองอย่างไรก็ไม่สามารถทำให้หายแคลงใจได้ว่าการช่วยเหลือครัวเรือนเกษตรกรผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อน

ทางออกก็คือ ให้ดูที่หัวหน้าครัวเรือนเป็นหลัก เช่น มีครัวเรือนเกษตร 5.9 ล้านรายหรือถ้าดูจากเงื่อนไขที่ผู้เขียนลองคัดกรองดูจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ครัวเรือนมีเกษตรกรหนึ่งคนมีถึง 11.81 ล้านคนก็ให้ ธ.ก.ส.ซึ่งมีทะเบียนเกษตรกรอยู่แล้ว โอนเงินให้ได้เลย และถ้าใจดีหน่อยก็ให้บวกภรรยาและหรือสามีด้วยอีกหนึ่งคน (ซึ่งบางคนก็อาจจะเป็นหม้าย) รวมแล้วก็อาจจะเป็น 9 ล้านคนตามที่รัฐมีข้อมูลเบื้องต้นอยู่แล้วก็ได้

อย่าไปคิดมากเรื่องครัวเรือนเกษตรร่ำรวยหรือครัวเรือนเกษตรยากจนเป็นการพิสูจน์ยาก แต่สำหรับเกษตรกรที่ตกหล่นเพราะเป็นเกษตรกรที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ธ.ก.ส.ก็ให้ผู้ใหญ่บ้านช่วยสำรวจครัวเรือนที่เหลือจ่ายเงินให้อีกรอบก็ยังไม่สายเกินไปเพราะถ้าเงื้อง่าราคาแพง เกษตรกรบางคนก็อาจจะอดตายไปเสียก่อนที่จะได้รับเงินช่วยเหลือ