สุขภาพการเงินคนไทย กับการรับมือวิกฤติ COVID-19

15 เม.ย. 2563 | 03:55 น.

 

คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3566 หน้า 7 วันที่ 16 -18 เมษายน 2562

โดย ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบจัดชุดใหญ่ “มาตรการดูแลและเยียวยาผล กระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 3 โดยมาตรการหลักๆ จะมาจากการออก package กระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งน่าจะมีแหล่งที่มาของเงินจาก 4 แหล่ง อันได้แก่

1. พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท

2. พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 5 แสนล้านบาท

3. พ.ร.ก.การสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตราสารหนี้ภาคเอกชน พ.ศ. 2563 (ร่าง พ.ร.ก. BSF) วงเงิน 4 แสนล้านบาท

4. พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนเงินงบประมาณ 2563 ซึ่งน่าจะทำให้รัฐบาลสามารถรวบรวมเงินจากหน่วยงานต่างๆ กลับมาเป็นเงินที่จะใช้ในการกระตุ้นและเยียวยาเศรษฐกิจได้อีกราว 8 หมื่น-1 แสนล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้ต้องนำไปผ่านรัฐสภาอีกรอบในเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน

ถามว่า 2 ล้านล้านบาทถือเป็นเงินก้อนใหญ่หรือไม่ เพียงพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้หรือไม่ คำตอบก็คือ นาทีนี้ยังไม่มีใครรู้ เพราะเรายังไม่ทราบว่าการแพร่ระบาดจะลุกลามใหญ่โตต่อเนื่องไปยาวนานแค่ไหน และเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบดำดิ่งลงไปลึกเพียงใด แต่ถ้าเปรียบเทียบกับนานาประเทศที่เริ่มต้นมาตรการฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจ

โดยสหรัฐฯ ในฐานะเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งงบประมาณไว้ที่ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 9.4% ของ GDP (ประมาณการ GDP ของสหรัฐฯปี 2019 อยู่ที่ 21.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศใช้งบประมาณราว 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 19.5% ของ GDP (ประมาณการ GDP ของญี่ปุ่น ปี 2019 อยู่ที่ 5.11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

ขณะที่สหราชอาณาจักรเตรียมอัดฉีดเงินในราว 8.5% ของ GDP เพื่อการนี้ นั่นทำให้เห็นว่าในกรณีของไทย วงเงิน 2 ล้านล้านบาทจาก GDP ของประเทศไทยที่ระดับ 16.879 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 11.8% ของ GDP ก็ถือเป็นวงเงินขนาดใหญ่ที่มีนัยสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแน่นอน

คำถามต่อมาก็คือ แล้วไทยเราเคยใช้งบประมาณมากขนาดนี้เพื่อกระตุ้นเยียวยาผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ถดถอยตกตํ่ามาก่อนหรือไม่ คำตอบก็คือ เราเคยใช้มาแล้ว โดยเมื่อช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง หรือ Asian Financial Crisis ที่เกิดขึ้นในปี 1997 และเศรษฐกิจตกตํ่าจนถึงขีดสุดในปี 1998 รัฐบาลไทยที่นำโดยนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย และนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เคยใช้มาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมๆ กันแล้วมีวงเงินในราว 1.8 ล้านล้านบาท

 

นั่นทำให้เราสามารถพิจารณาได้ว่า รัฐบาลปัจจุบันก็พิจารณาว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤติ COVID-19 ถ้าไม่รุนแรงมากกว่า ก็คงจะรุนแรงในระดับเดียวกันกับวิกฤติปี 1997

เรายังสามารถก่อหนี้ได้หรือไม่ หากพิจารณาจากทั้ง 3 พ.ร.ก. ที่จะมีการบังคับใช้ จะเห็นว่าประเทศไทยจะต้องกู้เงินเพิ่มอย่างแน่นอน โดยจากข้อมูลของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สถานะของหนี้สาธารณะของไทย ณ ตุลาคม 2019 อยู่ที่ระดับ 6,880,066.14 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน Debt Service Ratio หรือสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ หรือหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 40.90% ซึ่งอัตรานี้ถือว่าประเทศ ไทยยังอยู่ในมาตรฐานที่สามารถบริหารจัดการหนี้ได้ (อัตรามาตรฐานที่ยอมรับกันคือ หนี้สาธารณะคิดเป็นสัดส่วน 60% ของ GDP)

 

สุขภาพการเงินคนไทย กับการรับมือวิกฤติ COVID-19

 

แน่นอนเมื่อเทียบกับหลายประเทศไทยมีวินัยทางการคลังมากกว่ามาก เช่น สหรัฐฯ สัดส่วนนี้อยู่ที่ 115% อังกฤษ 313% ฝรั่งเศส 213% เยอรมนี 141% เราอาจกล่าวได้ว่า ในยามจำเป็นไทยยังสามารถกู้เงินและมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นได้โดยยังสามารถบริหารจัดการได้

คำถามสำคัญต่อมาก็คือ แล้ววงเงิน 2 ล้านล้านบาทนี้ จะลงลึกถึงมือประชาชนผู้เดือดร้อนโดยตรง และแก้ไขปัญหาให้พวกเขาได้หรือไม่ เพียงพอหรือไม่ แน่นอนว่าข้อที่ 2 และ 3 เป็น พ.ร.ก. ที่จะส่งผลทางอ้อมต่อประชาชน เพราะเป็นเรื่องของการช่วยเหลือเจ้าของกิจการขนาด SMEs และช่วยประคับประคองตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนไม่ให้ตกตํ่าถดถอยจนกระทบผู้ลงทุนและเอกชนขนาดใหญ่ที่ระดมทุนโดยออกหุ้นกู้ประเภทต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าทั้ง SMEs บริษัทขนาดใหญ่ และผู้ลงทุนยังไปต่อได้

นั่นหมายถึงกิจการต่างๆ ก็ยังไม่ต้องเลิกจ้าง ไม่ต้องปลดคนงาน แต่แน่นอนว่า พ.ร.ก. ในข้อที่ 1 คือตัวจริงในการส่งห่วงยางไปช่วยชีวิตประชาชนส่วนใหญ่ที่กำลังจะจมนํ้าตายจากวิกฤติ COVID-19

โดยเงินที่จะกู้มา 1 ล้านล้านบาทใน พ.ร.ก.ตามข้อที่ 1 จะใช้วงเงิน 6 แสนล้านบาท ช่วยเหลือเยียวยาประชาชน เกษตรกร และดูแลด้านสาธารณสุข ในจำนวนนี้จะขยายมาตรการแจกเงิน 5,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน เมษายน-มิถุนายน 15,000 บาท ออกไปอีก 3 เดือน คือ กรกฎาคม-กันยายน รวมทั้งหมด 6 เดือน เป็นเงิน 30,000 บาท

ส่วนการช่วยเหลือเกษตรกร เน้นเรื่องของปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์พืช และการลดต้นทุนการผลิต เป็นต้น โดยสำหรับผู้ที่ไปลงทะเบียนใน www.เราไม่ทิ้งกัน.com ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 20 ล้านคนในขณะนี้ จะถูกคัดผู้ที่คุณสมบัติไม่ตรงออกจน เหลือผู้ที่รัฐจะช่วยเหลือไม่เกิน 9 ล้านคน และจะนำเงินที่เหลือไปใช้ในการบริหารจัดการทางด้านสาธารณสุข ทั้งการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นค่าตอบแทนและตำแหน่งงานให้กับบุคลากรทางด้านสาธารณสุข

 

จากภาพ Macro เรามาดูที่ภาพ Micro กันบ้าง เงินที่จะช่วยเหลือประชาชน 9 ล้านคน คนละ 5,000 บาท/เดือน นานต่อเนื่อง 6 เดือน  จะเพียงพอหรือไม่ ก็ต้องไปคาดการณ์ว่า แล้ววิกฤติครั้งนี้จะยาวนานแค่ไหน และถ้ายาวนานกว่า 6 เดือน ประชาชนคนไทยจะมีเงินสำรองของตนเองเหลือรอดจากวิกฤตินี้หรือไม่

ถ้าพิจารณาตามการคาดการณ์ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในรายงานคาดการณ์การระบาดและมาตรการในระยะที่ 3 มีการคาดการณ์ว่าฉากทัศน์ที่ 2 จากแบบจำลองที่เรียกว่า สถานการณ์ชะลอการระบาดได้พอสมควร โรค COVID-19 จะอยู่กับเราต่อเนื่องไปอีกยาว โดยระยะเวลาการระบาดกว่าจะสิ้นสุดจะเกิดขึ้นในอีก 1 ปี 8 เดือน-2 ปี โดยเดือนที่การระบาดจะสูงสุดจะอยู่ที่ มกราคม-กุมภาพันธ์ 2021 ซึ่งนั่นหมายความว่า มาตรการช่วยเหลือ 6 เดือน จนถึงกันยายนน่าจะไม่ยาวนานพอ

มาดูกระสุนรองรับของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศบ้าง ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการจัดเก็บข้อมูลสถิติที่เรียกว่า ยอดคงค้างเงินรับฝากแยกตามขนาดและอายุของเงินฝากของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ ซึ่งทำให้เราทราบว่า ในประเทศไทยมีเงินฝากทุก ประเภทรวมกันอยู่ที่ 101,541,752 บัญชี โดยเป็นบัญชีที่มียอดเงินฝากตํ่ากว่า 50,000 บาทอยู่มากที่สุดที่ 88,351,268 บัญชี คิดเป็น 87.01% ของบัญชีเงินฝากทั้งหมดที่มีในประเทศไทย และตัวเงินฝากที่อยู่ในทั้ง 88.35 ล้านบัญชีนี้มีเงินรวมกันเพียง 417,651 ล้านบาทเท่านั้น ณ เดือนมกราคม 2020

นั่นหมายความว่า โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยส่วนใหญ่มีเงินฝากติดบัญชีกันอยู่เพียงบัญชีละ 4,727.16 เท่านั้น แน่นอนคนไทยอาจจะมีการออมในรูปอื่นๆ เช่น สะสมทองคำรูปพรรณ ที่ดิน คอนโดฯ และบ้าน ฯลฯ แต่ในยามฉุกเฉิน ในช่วงเศรษฐกิจตก ตํ่า ทรัพย์เหล่านั้นจะมีสภาพคล่องที่ตํ่ามาก นั่นคือ ขายยาก และขายได้ก็ขายออกด้วยราคาที่ตํ่า

ในขณะที่บัญชีเงินฝากประเภทต่างๆ น่าจะเป็นทางออกที่พึ่งทางการเงินแรกๆ ที่คุณๆ จะบริหารการเงินของตนเอง และที่น่าใจหายยิ่งกว่าก็คือใน 88.25 ล้านบัญชีที่มียอดเงินเฉลี่ยไม่มากนี้ บางคนอาจจะถือครองไว้ 2-3 บัญชี ในขณะที่หลายๆ คนอาจจะไม่มีเงินฝากหรือเงินสำรองเลยแม้แต่เพียงน้อยนิด

และเมื่อพิจารณาร่วมกับตัวเลขหนี้ครัวเรือน ที่ศูนย์วิจัยธ. กสิกรไทยคาดการณ์เอาไว้ตั้งแต่ก่อนวิกฤติ COVID-19 ว่าในปี 2020 ครัวเรือนไทยจะมีหนี้ในระบบอยู่ที่สูงกว่า 80% ของ GDP ดังนั้นเมื่อมีโรคระบาด เศรษฐกิจตกตํ่าถดถอยเช่นนี้ ตัวเลขหนี้ครัวเรือนน่าจะสูงยิ่งขึ้น และเมื่อรวมกับหนี้นอกระบบเรายิ่งต้องประเมินความเสี่ยงของคนไทยต่อวิกฤติในครั้งนี้ให้หนักหนาสาหัสมากยิ่งขึ้น

ทั้งหมดทำให้เราเรียนรู้ 2 เรื่อง นั่นคือ 1) คนไทยไม่มีความรู้เท่าทันทางการเงินอย่างเพียงพอ คนส่วนใหญ่ไม่มีการวางแผนการเงินส่วนบุคคล และ 2) หากสถานการณ์เลวร้ายลงมากกว่านี้ วงเงินที่รัฐบาลวางไว้สำหรับรับมือกับการระบาดของ COVID-19 ในระยะเวลาเพียง 6 เดือนไม่น่าจะเพียงพออย่างแน่นอน

ดังนั้นสิ่งที่เราทุกคนช่วยได้ตอนนี้จึงไม่ใช้การเสกเงินเพิ่ม แต่ต้องหยุดและควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้ เราต้องทำ 4 ข้อ 1) อยู่บ้านไม่ออกไปรับเชื้อและไม่ออกไปแพร่เชื้อ 2) ดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้แข็งแรงที่สุด กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และนอนหลับให้เพียงพอ 3) ต้องรัดเข็มขัด ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกให้หมด หาทางทำงานเพิ่มรายได้ และสุดท้าย 4) ต้องอย่าฟุ้งซ่าน อย่าเสียกำลังใจ แล้วทุกคนจะผ่านวิกฤติไปได้ด้วยกันครับ