หุ่นยนต์ FARMBOT สายพันธุ์ไทย

14 เม.ย. 2563 | 09:34 น.

ราคาประหยัด ลุยได้ทุกพื้นที่

 

การเกษตรในยุค Digital Farm  สมัยใหม่ นอกจากมีการแข่งขันกันสูง มีความเสี่ยงที่เกิดจากสภาพดินฟ้าอากาศที่มีผลต่อคุณภาพและปริมาณของผลผลิตแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านการตลาดและราคาตก ดังนั้นการทำการเกษตรจึงจำเป็นต้องกระจายเสี่ยง ทำการปลูกพืชแบบผสมผสานหลากหลายชนิด สามารถเปลี่ยนแปลงพันธุ์พืชที่จะปลูกได้ตามความเปลี่ยนแปลงของความต้องการตลาด แต่จะทำเช่นนี้ได้ เครื่องจักรกลการเกษตรจะต้องมีความฉลาดและเป็นหุ่นยนต์ AI เท่านั้น 

หุ่นยนต์ FARMBOT สายพันธุ์ไทย

ดังนั้นคำตอบจึงอยู่ที่ FARMBOT หุ่นยนต์การเกษตรที่เป็น Platform มาในแบบคล้ายๆ Grantry Robot ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่ง FARMBOT ของต่างประเทศ จะยังเป็นตัวขนาดเล็ก วิ่งบนรางอะลูมิเนียม โดยตัวหุ่นยนต์จะคล้ายๆ Crane ตัว U วิ่งคร่อมราง

ซึ่งหุ่นยนต์ FARMBOT ตัวนี้ของต่างประเทศสามารถปลูกพืชได้ทั้งในโรงเรือนและนอกโรงเรือน แต่ยังไม่สามารถทำเป็นเกษตรแปลงใหญ่ได้  เพราะยังทำ U-Turn ไม่ได้ วิ่งไม่ได้ทั้งแปลง และต้องวางรางลงบนเสาเข็มขนาดเล็ก เพื่อป้องกันการทรุดตัวของดิน ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมาก โดยทำพื้นที่ได้สูงสุดแค่กว้าง 3 m x 18 m ราคา 200,000 บาท เข้าไปแล้ว 

หุ่นยนต์ FARMBOT สายพันธุ์ไทย

หุ่นยนต์ FARMBOT สายพันธุ์ไทย

ขณะที่หุ่นยนต์ FARMBOT สายพันธุ์ไทย ซึ่งได้พัฒนาต่อยอดทั้ง Hardware และ Software เองทั้งหมด และรองรับเกษตรแปลงใหญ่ได้ ทั้งในโรงเรือนและนอกโรงเรือน  และเพิ่มความเร็วในการทำงาน โดยใน Platform จะมีหุ่นยนต์ 2 ตัว คือ หุ่นยนต์หลัก กับหุ่นยนต์รองที่นำพาหุ่นยนต์หลักทำ U-Turn โดยไม่ต้องตีวงเลี้ยว โดยหุ่นยนต์ทั้ง 2 นี้ จะวิ่งอยู่บนรางสลิง โดยตัวอย่างรายละเอียดที่สำคัญมีดังนี้

รางสลิง (Cable) วางอยู่บนเสาเข็มขนาดเล็ก ระยะห่างระหว่างเสา 13.3 m ยาวต่อเนื่องไปได้เรื่อยๆ โดยปลาย 2 ข้างของเส้นสลิง จะตรึงติดกับเสาสมอบกที่ฝังไว้กับพื้นที่แข็งแรง โดยสลิงสามารถปรับความตึงได้ ความยาวของรางสลิงนี้ ยาวได้เป็น ร้อยๆ เมตร หรือยาวได้ไม่จำกัด 

หุ่นยนต์หลักมีขนาดความกว้าง 13.3 m โครงสร้างเป็นคานอะลูมิเนียม รูปแบบเป็นตัว U คร่อมรางสลิง วิ่งด้วยล้อขนาดเล็ก เกาะอยู่บนเส้นสลิง ความสูงของคานปรับขึ้นลงได้ตามความสูงของพืช และวิ่งขยับซ้ายขวาได้ ตามร่องแถวของพืช

ตัวหุ่นยนต์หลัก จะมีแกน Z ทีเดียว 10 แกน ทำงานได้เร็วถึง 10 เท่า เมื่อเทียบกับของต่างประเทศ สามารถลดหรือเพิ่มจำนวนแกน Z ได้ เปลี่ยนหัวเครื่องมือทำการเกษตรได้หลายอย่าง เช่น หัวพรวนดิน หัวพ่นนํ้า พ่นปุ๋ย พ่นยา หัวปลูกด้วยการหยอดเมล็ดหรือต้นกล้า หัวตัดวัชพืช หัวเก็บเกี่ยว ติดกล้อง หัว sensor วัดค่าต่างๆ ที่ใช้ในการเกษตร 

ส่วนหุ่นยนต์ตัวรองจะทำหน้าที่นำพาหุ่นยนต์หลัก เปลี่ยนแถวทำ U-Turn  ซึ่งจะมีแนวรางสลิงเฉพาะ มีความกว้าง 3 เมตร ส่วนความยาวยาวเท่าไรก็ได้ พื้นที่ของหุ่นยนต์ตัวรองนี้ บริเวณข้างใต้ฐานจะทำเป็นสระเก็บนํ้าได้ นํ้าหนักหุ่นยนต์ตัวรอง 50 กิโลกรัม

หุ่นยนต์ FARMBOT สายพันธุ์ไทย

ทั้งนี้สมมติว่า พื้นที่ 1 ไร่ ขนาด 40x40 เมตร จะใช้งบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเสาและเส้นสลิงประมาณ 20,800 บาท ขณะที่หุ่นยนต์ทั้ง 2 ตัว ราคาต้นทุนค่าวัสดุขั้นตํ่าประมาณ  100,000 บาท แต่วิ่งได้พื้นที่หลายร้อยไร่ ไม่มีขีดจำกัด หุ่นยนต์สามารถทำฟังก์ชันการทำการเกษตรได้ครบถ้วนตามที่กล่าวไป

หุ่นยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ หรือ จาก Solar cells ก็ได้ เพราะหุ่นยนต์นํ้าหนักน้อยมาก ล้อขนาดเล็ก ติดตั้งมอเตอร์วิ่งบนสลิง ความเสียดทานตํ่า จึงใช้พลังงานน้อยมาก วิ่งได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่สำคัญวิ่งบนพื้นที่ลาดชัน หรือพื้นที่ไม่สมํ่าเสมอได้

การสื่อสารกับตัวหุ่นยนต์ สามารถใช้  Wi-Fi, 4G หรือ 5G ก็ได้ สามารถสั่งงานควบคุมจาก Computer, Smartphone ได้จากทุกที่ และสามารถบันทึกเก็บ Big Data จาก Sensors ต่างๆ ในรูปแบบ IoT ได้ เพื่อพัฒนาระบบ AI ให้หุ่นยนต์มีความฉลาด รองรับการดูแลพืชได้หลากหลายชนิด 

สถานะปัจจุบัน หุ่นยนต์การเกษตร FARMBOT สายพันธุ์ไทย จะเริ่มทดสอบในแปลงเกษตรขนาดใหญ่ในระดับ10-100 ไร่หรือมากกว่าภายในปีนี้ 

 

ขอขอบคุณ : ข้อมูลจาก อ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

หน้า 24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,560 วันที่ 26 - 28 มีนาคม 2563

หุ่นยนต์ FARMBOT สายพันธุ์ไทย