โควิด-19 สั่นคลอน โรงกลั่นน้ำมันทั่วโลก

18 เม.ย. 2563 | 03:00 น.

ท่านที่ติดตามข่าวพลังงานควบคู่ไปกับข่าวการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จะพบว่า ยิ่งข่าวการแพร่ระบาดและการเสียชีวิตของผู้คนขยายตัวเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน ข่าวร้ายในวงการนํ้ามันก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ส่งผลถึงราคานํ้ามันในตลาดโลกให้ลดลงตามไปด้วย

ข่าวร้ายที่ว่าก็คือ ข่าวผลกระทบของการแพร่ระบาด COVID-19 ต่อเศรษฐกิจโลก โดยรัฐบาลของประเทศต่างๆ ต้องใช้มาตรการทางปกครองและสังคมที่เข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ ในการควบคุมและสกัดกั้นการแพร่ระบาด จนกระทบต่อความเคลื่อนไหวและกิจกรรมทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น การปิดธุรกิจ จำกัดการเดินทาง ปิดเมือง ปิดประเทศ ตลอดจนห้ามประชาชนออกนอกบ้าน และให้มีระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ซึ่งตอนนี้องค์การอนามัยโลกให้ชื่อใหม่ว่าระยะห่างทางกายภาพ (Physical Distancing)

มาตรการดังกล่าวและความวิตกกังวลของประชาชนเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ความต้องการนํ้ามันลดลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว (Demand Destruction)

ในระยะแรก นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าความต้องการนํ้ามันดิบโลกน่าจะลดลงประมาณ 10% ของความต้องการทั้งหมดในปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือลดลงประมาณ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มเลวร้ายขึ้น ก็มีการปรับการประเมินใหม่ โดยล่าสุดคาดว่าความต้องการนํ้ามันที่ลดลงในเดือนเมษายน ว่าอาจสูงกว่า 30% หรือมากกว่า 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน เลยทีเดียว

ในขณะที่ทางด้านของกลุ่ม OPEC+ ได้มีมติตามที่ประชุมกันเมื่อวันที่ 9 เมษายน ให้ลดการผลิตลง 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน และขอความร่วมมือจากผู้ผลิตนํ้ามันในประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาให้ช่วยลดการผลิตอีก 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็น 15 ล้านบาร์เรลต่อวัน

กระนั้นก็ตาม ปริมาณนํ้ามันก็จะยังคงล้นเกินความต้องการอีกเป็นจำนวนมากถึง 15 ล้านบาร์เรลต่อวัน และสต๊อกนํ้ามันดิบทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างมากมายจนไม่มีที่เก็บ นั่นหมายความว่าโรงกลั่นนํ้ามันจะต้องถูกกดดันให้ลดการกลั่นนํ้ามันลง เพราะถ้ากลั่นออกมามากเต็มกำลังการผลิตก็จะไม่มีคนซื้อ และไม่มีที่เก็บ

ขณะนี้โรงกลั่นนํ้ามันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นใน Amsterdam, India, Italy, Canada และ แอฟริกาใต้ หรือแม้กระทั่งโรงกลั่นขนาดใหญ่และมีกำไรดีอย่างเช่นโรงกลั่นฯในสหรัฐฯและยุโรป ต่างก็พากันลดการกลั่นลงมากถึง 30% หรือ 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

วิบากกรรมของโรงกลั่นนํ้ามันในปีนี้ นอกจากจะต้องลดการกลั่น (กลั่นไม่เต็มกำลังการผลิต) 10-30% ตามความต้องการนํ้ามันที่ลดลงแล้ว ยัง ต้องเผชิญกับค่าการกลั่นที่ตกตํ่าเป็นประวัติการณ์ในรอบ 17 ปี โดยนํ้ามันเบนซินมีค่าการกลั่นติดลบ เนื่องจากนํ้ามันเบนซินมีราคาตํ่ากว่านํ้ามันดิบ ส่วนนํ้ามันเครื่องบินซึ่งค่าการกลั่นเป็นบวกก็ขายแทบไม่ได้ เพราะความต้องการลดลง

ดังนั้น ทั้งนํ้ามันเบนซินและนํ้ามันเครื่องบิน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักและทำกำไรให้กับโรงกลั่นนํ้ามันมาโดยตลอด ก็กลับกลายเป็นปัญหาของโรงกลั่นนํ้ามันทั่วโลกอยู่ในขณะนี้

ปีนี้ความต้องการนํ้ามันทั้ง 2 ชนิดนี้ลดลงอย่างรุนแรง (นํ้ามันเครื่องบินของโลกลดลงมากถึง 70% นํ้ามันเบนซินลดลง 50%) และคาดว่าถึงแม้วิกฤติไวรัส COVID-19 จะสิ้นสุดลง แต่ความต้องการนํ้ามันเบนซินและนํ้ามันเครื่องบินก็จะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป ซึ่งโรงกลั่นนํ้ามันในประเทศไทยที่มีอยู่ 6 โรง ย่อมยากที่จะหลีกหนีวิบากกรรมที่เกิดขึ้นกับโรงกลั่นนํ้ามันทั่วโลกไปได้
 

ดังนั้น ใครที่บอกว่าอุตสาหกรรมโรงกลั่นนํ้ามันของไทยกำไรดี ช่วยกำเงินมาซื้อไปบริหารซักแห่ง สองแห่งดูมั้ยครับ !!!


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 8 ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,566 วันที่ 16 - 18 เมษายน พ.ศ. 2563

โควิด-19 สั่นคลอน โรงกลั่นน้ำมันทั่วโลก