สธ.แนะผู้ปกครองฝึกทักษะการเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำให้ลูกหลาน

05 เม.ย. 2559 | 10:02 น.
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงฤดูร้อน เป็นช่วงปิดเทอมของเด็กๆวัยเรียน กิจกรรมที่เด็กนิยมทำเพื่อคลายร้อน คือ การชักชวนกันไปเล่นน้ำในแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้บ้าน ทั้งในสระว่ายน้ำ ห้วย คลอง อ่างเก็บน้ำ  แม่น้ำ และทะเล ที่น่ากังวลคือเด็กส่วนใหญ่ยังว่ายน้ำไม่เป็น  หรือหากว่ายน้ำเป็น แต่ยังขาดทักษะการช่วยเหลือและการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องเมื่อพบการจมน้ำ  ข้อมูลจากการเฝ้าระวังของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค  ในรอบ 10 ปี ระหว่าง ปี 2549-2558 มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตจากการจมน้ำ 10,923 คน เฉลี่ยปีละเกือบ 1,100 คน  พบมากสุดในแหล่งน้ำธรรมชาติร้อยละ 41.6  เฉพาะเดือนมีนาคม-พฤษภาคมพบเสียชีวิตสูงสุดเฉลี่ยปีละ 372 คน

สำหรับในปี 2559 จากการเฝ้าระวังข่าวและสถานการณ์เด็กจมน้ำ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 24 มีนาคม  พบเด็กจมน้ำ 54 เหตุการณ์ เสียชีวิต 55 ราย บาดเจ็บ 26 ราย โดยช่วงปิดเทอมตั้งแต่ 1 - 24 มีนาคม มีเด็กจมน้ำถึง 22 เหตุการณ์ เสียชีวิต 21 ราย บาดเจ็บ 16 ราย เกือบทั้งหมดเป็นเด็กวัยเรียน ช่วงอายุ 5 –13 ปี ซึ่งสถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่ คือ คลอง หนองน้ำ รองลงมา คือ ทะเล  สาเหตุเกิดจากเด็กไปเล่นน้ำเป็นกลุ่ม โดยไม่มีผู้ใหญ่คอยดูแล ซึ่งเด็กยังขาดความรู้เรื่องกฎความปลอดภัยทางน้ำ ขาดทักษะการช่วยเหลือและการปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง ทำให้เกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บพร้อมกันครั้งละหลายคน

การจมน้ำเป็นเรื่องที่ช่วยกันป้องกันได้  ขอให้ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น ช่วยกันดูแลจัดการสิ่งแวดล้อมของแหล่งน้ำ ติดป้ายคำเตือน จัดหาอุปกรณ์ช่วยเหลือคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำ เช่นแกลลอน นกหวีด ไม้ยาว และขอให้ผู้ปกครองดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิดดังนี้ 1.ในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี สิ่งที่ต้องดำเนินการคือ “เทน้ำ กั้นคอก ปิดฝา เฝ้าดูตลลอดเวลา” เทน้ำทิ้งทุกครั้งหลังใช้งาน กั้นคอกเพื่อกำหนดพื้นที่เล่นที่ปลอดภัย ปิดฝาภาชนะใส่น้ำเช่น กะละมัง โอ่งน้ำ ตุ่มน้ำ และเฝ้าดูตลอดเวลาไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังแม้เพียงชั่วขณะ 2.เด็กโตอายุมากกว่า 5 ปี  สิ่งที่ต้องดำเนินการ คือ “ลอยตัว ชูชีพ ช่วยเหลือ ปฐมพยาบาล” ลอยตัว สอนให้เด็กรู้วิธีการเอาชีวิตรอด โดยการลอยตัวเปล่าหรือลอยตัวโดยใช้อุปกรณ์ช่วย ชูชีพ สอนกฎความปลอดภัยทางน้ำและใส่ชูชีพทุกครั้งที่เดินทางทางน้ำ ช่วยเหลือ สอนวิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้องด้วยการ ตะโกน โยน ยื่น ไม่กระโดดลงน้ำไปช่วย และปฐมพยาบาล สอนวิธีการปฐมพยาบาลคนจมน้ำที่ถูกต้อง โดยห้ามอุ้มพาดบ่าหรือกระแทกท้องเพื่อเอาน้ำออก

ทั้งนี้ อันตรายของเด็กช่วงปิดเทอมนอกจากการจมน้ำแล้ว ยังมีการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆ เช่น การเล่นสวนน้ำ/สวนสนุก การใช้บันไดเลื่อน กรณีรถทับเด็ก และทิ้งเด็กไว้ในรถ รวมทั้งการบาดเจ็บจากการจราจร  จึงควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด เช่น อย่าทิ้งเด็กหรือลืมเด็กไว้ในรถ เพราะเพียง 30 นาที เด็กก็เสียชีวิตได้ ก่อนออกรถควรสำรวจทุกครั้งว่าไม่มีเด็กอยู่ใกล้รถ ให้เด็กสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งที่ซ้อนท้ายจักรยานยนต์ และหากต้องใช้บันไดเลื่อน ผู้ปกครองควรจับมือเด็กไว้ตลอดเวลา