บิ๊กส.อ.ท.ห่วงโควิดลากยาวเลย6เดือนเข้าขั้นวิกฤติ

14 เม.ย. 2563 | 06:15 น.

บิ๊กส.อ.ท.หวังปัญหาโควิดคลี่คลายไม่เกินมิ.ย.นี้ ชี้ถ้าเลย6เดือนเข้าขั้นวิกฤติเพราะฐานการผลิตหยุดนาน แรงงานตกงานยาวเศรษฐกิจไม่ขับเคลื่อน  คาดการณ์อย่างเร็วฟื้นตัวได้ปี64

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ขณะนี้มีความหวังว่าปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 จะคลี่คลายได้ไม่เกินเดือนมิถุนายนนี้  หากประเมินจากที่ภาครัฐเข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาด  ส่วนในแง่ธุรกิจถ้าปัญหาลากยาวเกิน 6 เดือนอาจเข้าขั้นวิกฤติได้ เพราะฐานการผลิตหยุดนาน แรงงานตกงานยาว เศรษฐกิจไม่ขับเคลื่อน ซึ่งในเบื้องต้นคาดการณ์ว่าอย่างเร็วที่สุดน่าจะฟื้นตัวได้ในปี2564

 

บิ๊กส.อ.ท.ห่วงโควิดลากยาวเลย6เดือนเข้าขั้นวิกฤติ

สุพันธุ์ มงคลสุธี

นายสุพันธุ์กล่าวว่าก่อนหน้านี้ภาคเอกชนในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ได้รวบรวมมาตรการในการเยียวผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลากหลายส่วนโดยมาตรการที่ควรยกให้เป็นเรื่องเร่งด่วนก่อนคือการลงมาช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหา เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีสัดส่วนมาก 80-90%ในประเทศ และบางอุตสาหกรรมก็เป็นแขนขาสำคัญที่เชื่อมโยงกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ผลิตเพื่อการส่งออก

 

“จำเป็นต้องให้เอสเอสเอ็มอีสามารถขับเคลื่อนได้ก่อนโดยเปิดช่องให้สามารถกู้เงินเพื่อแก้สภาพคล่องในอัตราดอกเบี้ยต่ำขอให้ธนาคารพาณิชย์และรัฐลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เดิม เพิ่มจาก 0.4% เป็น 1% รวมถึงประกันสังคมของนายจ้างที่อยากให้ลดลงมา1%เท่ากับลูกจ้าง เป็นต้น”

 

บิ๊กส.อ.ท.ห่วงโควิดลากยาวเลย6เดือนเข้าขั้นวิกฤติ

ส่วนเมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้วมาตรการที่จะต้องรีบดำเนินเยียวยา-ฟื้นฟูก่อนคือทุกภาคส่วนจะต้องส่งเสริมการใช้สินค้าที่ผลิตจากในประเทศไทย  ภาครัฐซื้อสินค้า Made In Thailand โดยกําหนดเป็นนโยบายในการจัดซื้อจัดจ้างและสร้าง รวมถึงการขอใบอนุญาตการเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆจะต้องหันมาใช้ระบบออนไลน์เพื่อลดต้นทุน  รวมถึงข้อเสนอที่เคยส่งให้รัฐบาลพิจารณาก่อนหน้านี้เรื่องสนับสนุนการตั้งกองทุนนวัตกรรม โดยผู้บริจาคหักเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ 3 เท่าเป็นต้น

บิ๊กส.อ.ท.ห่วงโควิดลากยาวเลย6เดือนเข้าขั้นวิกฤติ

 

"ยอมรับว่าภาคการผลิตได้รับผลกระทบมาเป็นระยะ ตั้งแต่สงครามการค้าจีน-อเมริกา ค่าเงินผันผวน เศรษฐกิจโลกไม่ดี ปัญหาภัยแล้ง สินค้าอุตสาหกรรมหลายตัวได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาก่อนแล้ว พอมาถูกซำ้เติมด้วยวิกฤติไวรัสโควิดยิ่งหนัก  ดังนั้นมาตรการต่างๆในการเยียวยา-ฟื้นฟูภาคเอกชนในนามกกร. พิจารณาแล้วควรได้รับการดูแลในระยะสั้นนี้อย่างเร่งด่วน"