พาณิชย์ปรับแผนส่งออก แมชชิ่งออนไลน์ยาว 5 เดือน

14 เม.ย. 2563 | 09:10 น.

พาณิชย์จับมือผู้นำเข้า-ห้างฯ-อี-มาร์เกตเพลส จัดแมชชิ่งออนไลน์ยาว 5 เดือนแก้ปัญหาไม่สามารถจัดงานแสดงสินค้าได้ช่วงโควิดระบาด เน้น 3 กลุ่มหลัก ไลฟ์สไตล์ มัลติมีเดีย และอาหาร เอกชนสนเข้าร่วมแล้วกว่า 50 ราย

 

นายวิทยา มณีเนตร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิค-19) ในเวลานี้ ส่งผลกระทบต่อการการค้าทั่วโลก ซึ่งรวมถึงไทยที่ต้องปรับรูปแบบการจัดกิจกรรมต่างๆ มาเป็นรูปแบบออนไลน์แบบเสมือนจริงมากขึ้น โดยจะเริ่มทำตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน เป็นเวลา 5 เดือน สินค้าที่จะนำมาแมชชิ่งกับคู่ค้ามี 3 กลุ่ม ประกอบด้วย สินค้าไลฟ์สไตล์ กลุ่มมัลติมีเดีย เช่น เกม และกลุ่มอาหาร ซึ่งจะรวมถึงสินค้าประเภทผลไม้ด้วย เนื่องจากเวลานี้อยู่ในช่วงที่ผลไม้ไทยกำลังออกสู่ตลาดโดยเฉพาะทุเรียน 

ทั้งนี้จะแบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ 1. online sourcing ระหว่างสำนักงานทูตพาณิชย์ในแต่ละประเทศ ผู้ประกอบการไทย ผู้นำเข้ารายใหญ่ ห้างสรรพสินค้า และอี-มาร์เก็ตเพลส เช่น กลุ่มอาหาร โดยเป็นการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจในการเจรจาการค้าผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนส์กับห้างอิออนในมาเลเซีย ซึ่งจะจัดในเดือนพฤษภาคม และอยู่ระหว่างพิจารณาสินค้าที่จะร่วมจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยในช่องทางการค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็น Coupang, SSg, Naver, Interpark ,Gmarket และ11st ของเกาหลีใต้ และในเดือนกรกฎาคม เป็นกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่น  ซึ่งจัดพร้อมกันทุกประเทศ ผ่านงาน Lifestyle online Virtual Exhibition (L.O.V.E) และผ่านงานFood International virtual Exhibition (F.I.V.E) จำนวน 4 ครั้ง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ซึ่งจะมีทั้งสินค้าฮาลาล สินค้าออร์แกนิก เครื่องดื่มผลไม้สด ผลไม้แปรรูป อาหารทะเล ผู้ซื้อมีทั้งจากสหรัฐฯ อาเซียน ตะวันออกกลาง จีน อินเดีย ยุโรป ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้  เป็นต้น 

 

2. Online Matching โดยเป็นการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้นำเข้ากับผู้ส่งออก เช่น การจับคู่ธุรกิจผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์กับผู้นำเข้ากลุ่มอาหาร เครื่องสำอาง  วัสดุก่อสร้าง ข้าว ผลไม้ สปา รองเท้าในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน โดยจะเน้นกลุ่มเป้าหมายในตะวันออกกลาง อินเดีย และแอฟริกาใต้  ส่วนสินค้ากลุ่มดิจิทัลคอนเทนต์ จะเป็นกิจกรรมในรูปแบบการฉายหนังตัวอย่างผ่านออนไลน์โดยเปิดให้ชมเฉพาะผู้ที่ลงทะเบียนเท่านั้นโดยตลาดเป้าหมาย สหรัฐฯ ยุโรป จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้และญี่ปุ่น 

“การจัดกิจกรรมผ่านออนไลน์ของกรมในครั้งนี้ ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะช่วยผลักดันการส่งออกไทยเพิ่มได้เท่าไหร่ ต้องรอดู ผลการตอบรับจากผู้ซื้อก่อน ขณะนี้มีผู้ประกอบการไทยสนใจเข้าร่วมงาน 30-50 ราย

กรมยังมีแผนระบายผลไม้ ซึ่งขณะนี้เริ่มมีออร์เดอร์ทุเรียนจากจีนเข้ามาค่อนข้างมาก แต่ยังติดปัญหาเรื่องการขนส่งที่ยังไม่ 100% ส่วนการส่งออกมะม่วงไปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ประสบปัญหาจากการยกเลิกการบิน กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างหารือกับผู้ประกอบการ และสมาคมโลจิสติกส์ถึงแนวทางแก้ปัญหาและให้เอกชนกลับไปจัดทำแผนก่อนจะเสนอมายังกระทรวงฯอีกครั้ง 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,565 วันที่ 12 - 15 เมษายน พ.ศ. 2563