สนั่นโลกข้าวไทยเจอชักดาบส่งออก

13 เม.ย. 2563 | 11:10 น.

โดนแล้วเขย่าวงการโบรกเกอร์ยักษ์ใหญ่เบี้ยวจ่ายค่าข้าวไทย อ้างบริษัทขาดทุนหนัก ด้านนายกส่งออกฯ เผยเป็นธรรมดา 1-2 ปีต้องเจอแบบนี้

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มีข่าวไม่ค่อยดีกับวงการข้าวไทย ล่าสุดบริษัทที่คนในวงการข้าวรู้จักกันเป็นอย่างดีในชื่อของ “ฟินิกส์” เป็นโบรกเกอร์ลำดับที่ 3 ของโลก ค้าขายหลายอย่าง หนึ่งในนั้นก็มีข้าว มีการเบี้ยวจ่ายค่าข้าวประมาณ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือกว่า 300 ล้านบาท

สนั่นโลกข้าวไทยเจอชักดาบส่งออก

“ความจริงมีข่าวมาตั้งแต่ 1-2 เดือนที่แล้ว แต่ยังไม่ชัด เพิ่งมาชัดเจนเมื่อประมาณสัปดาห์ที่แล้วว่าบริษัทนี้เริ่มคุยกับธนาคารเข้าใจว่ามีผู้ส่งออกหลายรายที่ยังไม่ได้รับการจ่ายเงิน มองว่าบริษัทนี้น่าจะไปขาดทุนสินค้าชนิดอื่นเพราะทำคอมโมดิตี้หลายตัวไม่ใช่เทรดข้าวเพียงตัวเดียว และส่วนโบรกเกอร์รายที่  2 ขยายการชำระหนี้ 150-160 วันแล้ว ปกติจ่ายเงินไม่ลากยาวถึงขนาดนี้ จากสถานการณ์แบบนี้ก็เหมือนมาซ้ำเติมที่กำลังย่ำแย่อยู่ในช่วงไวรัสระบาดไปทั่วโลก”

ด้านนายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ตนเคยบอกไปว่าก่อนหน้านี้ผู้ส่งออกไทยขายข้าวเสี่ยงมาก ไม่มีการวางค้ำประกัน ไม่มีการวางแอล/ซี เพราะเราไม่มีอะไรจะแข่งกับคู่แข่งแล้วเพราะราคาก็สูงกว่า พันธุ์ข้าวก็ไม่ใช่เป็นที่ตลาดต้องการ มีทางเดียวที่จะคุยได้ก็คือเอาข้าวไปขายก่อน เมื่อขายได้แล้ว ค่อยนำเงินมาจ่าย นี่คือความเสี่ยง

สนั่นโลกข้าวไทยเจอชักดาบส่งออก

“ผมถึงได้บอกว่าการที่จะทำให้ระบบค้าข้าวไทยดีขึ้นไม่ใช่ดูราคาเฉพาะข้าวเปลือกต้องดูทั้งระบบทำอย่างไรให้การค้าอยู่ในระบบที่ยุติธรรมทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องมาคุยกัน ในกรณีอย่างนี้ 1-2 ปี จะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง แต่ก็ยังมีผู้กล้าหาญรายใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ เพื่อส่งออกข้าวได้อย่าง "เสรี" เมื่อเสรีเกินไปก็ไม่ดีเพราะการค้าขายไม่มีการควบคุม ไม่อยู่ในกฎเกณฑ์ต่างคนต่างทำใครกล้าเสี่ยงกว่า แล้วถ้าถูกจังหวะก็ไม่เสียหาย แต่ถ้าไม่ถูกจังหวะเสียหายอย่างที่เป็นข่าวนี่แหละ”

 

 

 

ทั้งนี้ในปี 2562 ที่ผ่านมาไทยส่งออกข้าวได้ 7.58 ล้านตัน ต่ำสุดรอบ 6 ปี ปัจจัยหลักจากเงินบาทแข็งค่ามาก ราคาข้าวไทยสูงโด่ง เสียเปรียบการแข่งขัน 

ขณะที่ในปี 2563 สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยตั้งเป้าส่งออกที่ 7.5 ล้านตัน มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มจากภัยแล้งคาดทำให้ผลผลิตข้าวไทยลดลง และมีคู่แข่งขันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น โดยตัวเลขส่งออกเดือนมกราคม 2563 ทำได้แค่ 547,160 ตัน ติดลบถึง 42.5% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ล่าสุดวิกฤติไวรัสโคโรนา (โควิด-19) 

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่าการส่งออกข้าวไทยในปี 2563 อาจยังต้องเผชิญปัจจัยลบที่รุมเร้ารอบด้านปัจจัยเดิมที่ยังมีอยู่ให้เห็นต่อเนื่องจากปีก่อน ทั้งในเรื่องของการแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรง ปัญหาเศรษฐกิจโลก ค่าเงินบาท ภาวะภัยแล้ง จีนที่เปลี่ยนสถานะจากผู้นำเข้าเป็นผู้ส่งออก และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 น่าจะทำให้การส่งออกข้าวไทยในปี 2563 ลดลงมาอยู่ที่ราว 6.2-6.6 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 12.9-18.1 (YoY) นับเป็นตัวเลขต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี 

โดยตลาดข้าวขาวของไทย (ข้าวพื้นแข็ง) เป็นตลาดที่มีปัญหามากที่สุด ท่ามกลางตลาดที่เปลี่ยนไป ทำให้ส่วนแบ่งตลาดลดลง ซึ่งหากไทยยังคงเน้นการผลิตข้าวขาวพื้นแข็งเช่นนี้ต่อไป ก็อาจทำให้อนาคตการส่งออกข้าวไทยต้องย่ำแย่ 

ดังนั้น ไทยจึงต้องหาทางออกด้วยการใช้ข้าวขาวพื้นนิ่ม ชูขึ้นมาเป็น Fighting Product เพื่อเข้ามาทำตลาดใหม่ๆ ในระดับกลางที่ผู้บริโภคมักมีกำลังซื้อ เป็นการตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเน้นคุณภาพข้าวที่ดีขึ้นกว่าข้าวพื้นแข็ง และยังเป็นการยกระดับข้าวไทยไปสู่ตลาดข้าวคุณภาพ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ที่ยั่งยืนแก่ทั้งชาวนาและผู้ส่งออก

ทั้งนี้ หากไทยสามารถส่งเสริมการปลูกข้าวขาวพื้นนิ่มในปี 2563 ได้ที่ราว 0.8 ล้านไร่ ด้วยการมีนโยบายของภาครัฐสนับสนุนแก่ชาวนาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จนทำให้มีการเติบโตทั้งในด้านพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิต ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถมีผลผลิตข้าวขาวพื้นนิ่มเพื่อส่งออกที่ราว 7 ล้านตันได้ในปี 2570 หรืออีกราว 7 ปีข้างหน้า และเป็นระดับที่ทำให้ไทยสามารถทวงส่วนแบ่งตลาดของข้าวขาวและข้าวหอมมะลิที่หายไปร้อยละ 5.2 คืนกลับมาได้  

โดยจะทำให้ไทยสามารถครองส่วนแบ่งตลาดข้าวในโลกได้มากกว่าร้อยละ 24.5 เนื่องจากปริมาณส่งออกข้าวขาวพื้นนิ่มที่เพิ่มขึ้นจะสามารถชดเชยปริมาณส่งออกข้าวขาวและข้าวหอมมะลิที่ลดลงได้