"ประวิตร”สั่งเข้มแผนแก้แล้งกันกระทบซ้ำโควิด

13 เม.ย. 2563 | 06:48 น.

"พลเอก ประวิตร”สั่งเข้มแผนแก้ภัยแล้ง ป้องกันผลกระทบซ้ำในช่วงไทยเผชิญการแพร่ระบาดโควิด-19

วันนี้ (13 เม.ย.63) เวลา 10.00 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กองทัพบก หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กรมทรัพยากรน้ำ การประปาภูมิภาค การประปานครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น

พลเอก ประวิตร กล่าวว่า การประชุมวันนี้เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและความคืบหน้าในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ ในการบรรเทาและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์น้ำแล้ง อาทิ ลุ่มเจ้าพระยา และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC

รวมถึงเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดดำเนินการโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลน้ำปี 2562/63 และโครงการเร่งด่วนเพื่อการกักเก็บน้ำในฤดูฝน ปี 2563 ในส่วนที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้วโดยเร่งด่วนให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

ทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชนในพื้นที่เฝ้าระวังการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรือผลกระทบมาซ้ำเติมกับประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะนี้

ขณะเดียวกัน ยังได้หารือถึงแผนบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤติในส่วนภาคตะวันออก ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยล่าสุดพบว่า หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ได้ประสานความร่วมมือเร่งรัดดำเนินการเชื่อมโยงเครือข่ายน้ำตามมติที่ประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติที่ได้มีการกำหนดมาตรการรับมือล่วงหน้า เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ที่ประสบปัญหาน้ำในอ่างฯ น้อย ซึ่งจะช่วยทำให้สถานการณ์น้ำจังหวัดระยองและ EEC ดีขึ้น

แต่เพื่อความไม่ประมาทได้เน้นย้ำให้กรมชลประทานและบริษัทอีสวอเตอร์ การประปาภูมิภาค ประเมินปริมาณน้ำต้นทุน พร้อมเตรียมมาตรการจัดหาแหล่งน้ำสำรองเพิ่มขึ้นด้วย รองรับภาวะเสี่ยงขาดแคลน้ำกรณีไม่มีฝนตกถึงเดือน มิ.ย.63 โดยเร็ว รวมถึงให้การนิคมอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพหลักในติดตามการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรม โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการปฏิบัติงานทุกวันพุธให้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติเพื่อใช้ในการติดตามการบริหารจัดการน้ำ

 

พลเอก ประวิตร กล่าวต่ออีกว่า ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรกำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูฝน ปี 2563 แล้วส่งให้กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจัดทำแผนการจัดสรรน้ำฤดูฝนให้สอดคล้องกัน

ขณะเดียวกัน มอบหมายให้กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เร่งจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับสถานการณ์น้ำเพื่อส่งให้ สทนช.รวบรวมสรุปแผนเสนอต่อคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบภายใน 20 เมษายนนี้ พร้อมแจ้งกระทรวงมหาดไทยรับทราบและแจ้งผู้ราชการจังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนรับทราบต่อไป

 

ทั้งนี้ นอกจากการเร่งดำเนินการบรรเทาและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากน้ำแล้งแล้ว ที่ประชุมยังหารือถึงแผนเตรียมการรับมือฤดูฝนที่จะถึงนี้ไปพร้อมกันด้วย โดยเฉพาะปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำที่จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการระบายน้ำและอาจส่งผลให้เกิดปัญหาท่วมขังได้นั้น ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำที่ยังไม่ได้ดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

โดยมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ใช้ดาวเทียมติดตามสำรวจลำน้ำที่มีวัชพืชและผักตบชวาในลำน้ำต่าง ๆ และรายงานให้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติทราบเพื่อใช้สำหรับวางแผน และแจ้งให้กรมโยธาธิการและผังเมืองร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการกำจัดวัชพืชให้ทันฤดูน้ำหลาก ปี 2563

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบและซ่อมแซมสภาพอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ และสถานีโทรมาตร ให้พร้อมใช้งานในฤดูฝนนี้