ดีอีเอสผนึกหัวเว่ย ติดตั้งระบบ AI ให้ศิริราช

13 เม.ย. 2563 | 06:11 น.

เดินหน้าลุยใช้ AI ทำ ซีทีสแกนปอด ผ่านระบบ5G รายงานผลตรวจโควิด-19

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ดีอีเอส และ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ประเทศไทย (จำกัด) ส่งมอบโซลูชันผู้ช่วย AI ผสานพลังเทคโนโลยีเครือข่าย 5G เพื่อใช้รายงานผลตรวจโควิด-19 ให้กับโรงพยาบาลศิริราชได้อย่างอัตโนมัติ รวดเร็ว และแม่นยำ ผ่านเครือข่ายความเร็วสูง เสริมพลังแพทย์ไทยในการรับมือสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีศักยภาพด้วยเทคโนโลยีระดับโลก 

ด้วยการนำระบบ AI มาช่วยในการวิเคราะห์ไวรัสโควิด 19 ซึ่งเป็นการใช้ระบบ AI มาวิเคราะห์ตัวอย่างผลการเอ็กซเรย์ปอดของคนไข้ จำนวน 20,000 กว่าตัวอย่าง เมื่อมีการทำ CT scan เพื่อเอ็กซเรย์ปอดของคนไข้ ระบบจะนำผลจากการเอ็กซเรย์ มาเทียบเคียงกับตัวอย่างภาพเอ็กซเรย์ปอด 20,000 กว่าตัวอย่างนี้ซึ่งเป็นผู้ป่วยโควิด-19 กว่า 4,000 ราย

 

ดีอีเอสผนึกหัวเว่ย ติดตั้งระบบ AI ให้ศิริราช

เพื่อวิเคราะห์ วินิจฉัยเบื้องต้น ว่าคนไข้มีความเสี่ยงที่จะเป็นไวรัสโควิด 19 มากน้อยเพียงใด ระบบนี้เป็นเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย และมีการใช้จริงแล้วในประเทศจีนทั้งในเมืองอู่ฮั่น และหลายๆ เมืองในประเทศจีน 

ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมร่วมกับริษัท Huawei ได้นำมาติดตั้งให้โรงพยาบาลรามาฯ และโรงพยาบาลศิริราชเป็นที่เรียบร้อย จากนี้การวิเคราะห์คนไข้ด้วยระบบดังกล่าว ก็จะช่วยลดความเสี่ยงทั้งพี่น้องประชาชน และลดความเสี่ยงให้บุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากการทำ CT Scan เพื่อคัดกรองเบื้องต้นทำให้แพทย์ไม่ต้องสัมผัสกับคนไข้ เมื่อคัดกรองแล้วพบว่ามีความเสี่ยงสูง จึงค่อยเข้าสู่

กระบวนการตรวจสารคัดหลั่ง ซึ่งจะใช้เวลาอย่างน้อย 48 ชั่วโมงในการยืนยันผล การนำระบบ AI เข้ามาใช้ จึงช่วยลดความเสี่ยงแก่บุคลากรทางการแพทย์ เพราะทำให้ไม่ต้องสัมผัสผู้ป่วยจำนวนมากในขั้นต้น พร้อมกับได้พูดคุยให้กำลังใจคุณหมอที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในห้องอื่นๆ ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ในนามรัฐบาล และกล่าวถึงท่านนายกฯ ซึ่งได้ฝากมาให้กำลังใจและให้สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์อย่างเต็มที่

 

ดีอีเอสผนึกหัวเว่ย ติดตั้งระบบ AI ให้ศิริราช

ด้านศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เทคโนโลยี AI จะช่วยให้แพทย์นำมาใช้วินิจฉัยผลตรวจ CT ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว สามารถวิเคราะห์ผลได้ภายในเวลาเพียง 25 วินาทีต่อ 1 เคส จึงลดภาระให้บุคลากรทางการแพทย์ไทยได้เป็นอย่างมาก ที่สำคัญ ความเร็วในการส่งข้อมูลของเครือข่าย 5G จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพให้บุคลากรทางการแพทย์รับมือสถานการณ์ในขณะนี้ได้ดียิ่งขึ้น เพราะช่วยให้ระบบทางการแพทย์ต่างๆ ตอบสนองการใช้งานได้รวดเร็ว ช่วยให้ติดตามอาการและเก็บข้อมูลคนไข้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยให้การจัดสรรทรัพยากรทางการแพทย์มีประสิทธิภาพขึ้นอีกด้วย

 

ดีอีเอสผนึกหัวเว่ย ติดตั้งระบบ AI ให้ศิริราช