“โอเปกพลัส” ตกลงลดกำลังผลิต 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน

13 เม.ย. 2563 | 02:52 น.

หลังจากที่มีการหารือติดต่อกันมาถึง 4 วัน ในที่สุดกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือที่เรียกว่ากลุ่ม “โอเปกพลัส” ก็สามารถบรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้ายในการประชุมฉุกเฉินรอบที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวานนี้ (12 เม.ย.) โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับลดกำลังการผลิตลง 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ไปจนถึงสิ้นเดือนมิ.ย. 2563

นอกจากนี้ กลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) ซึ่งประกอบด้วยชาติสมาชิกโอเปก และประเทศพันธมิตรนำโดยรัสเซีย ยังมีมติปรับลดการผลิต 8 ล้านบาร์เรล/วันตั้งแต่เดือนก.ค.ไปจนถึงสิ้นปี 2563 และจะปรับลด 6 ล้านบาร์เรล/วันตั้งแต่เดือนม.ค. 2564 ไปจนถึงเดือนเม.ย. 2565

“โอเปกพลัส” ตกลงลดกำลังผลิต 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน

มติดังกล่าวมีขึ้นในการประชุมฉุกเฉินซึ่งจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 12 เม.ย. และนับเป็นการประชุมรอบที่ 2 หลังจากที่โอเปกพลัสได้จัดการประชุมเบื้องต้นเมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยในการประชุมวันดังกล่าวที่ประชุมได้ข้อตกลงที่จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 10 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนพ.ค.-มิ.ย. แต่เนื่องจากในขณะนั้น เม็กซิโกได้ปฏิเสธที่จะทำตามข้อเรียกร้องของโอเปกพลัสที่ต้องการให้เม็กซิโกปรับลดกำลังการผลิต 400,000 บาร์เรล/วัน ทำให้ต้องมีการหารือกันในรอบถัดมา ซึ่งในที่สุด ภายใต้ข้อตกลงใหม่นี้ เม็กซิโกยินยอมที่จะปรับลดกำลังการผลิตลง 100,000 บาร์เรล/วัน

ทั้งนี้ การประกาศลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัสมีเป้าหมายที่จะสกัดการร่วงลงของราคาน้ำมัน หลังจากที่ราคาน้ำมันได้ทรุดตัวลงตามอุปสงค์น้ำมันที่ลดลงทั่วโลก อันเนื่องมาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้มีการคาดการณ์ว่า อุปสงค์น้ำมันโลกอาจลดลงถึง 1 ใน 3 ของระดับปัจจุบันเนื่องมาจากประชากรโลกกว่า 3,000 ล้านคนตกอยู่ภายใต้มาตรการล็อคดาวน์ ต้องเก็บตัวอยู่กับบ้านและงดการเดินทางที่ไม่จำเป็น  

การมีมติปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของโอเปกพลัสครั้งล่าสุดนี้ ถือเป็นการปรับลดมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ มีสัดส่วนเท่ากับประมาณ 10% ของอุปทานน้ำมันโลก  การประชุมครั้งนี้มีขึ้นผ่านระบบประชุมวิดีทัศน์ทางไกล จากนั้นมีการออกแถลงการณ์ข้อตกลงโดยกระทรวงพลังงานของคาซัคสถาน อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ หน่วยงานวิจัยของโกลด์แมน แซคส์ และธนาคารยูเอสบี เคยวิเคราะห์สถานการณ์ไว้ว่า แม้การปรับลดการผลิตลง 15% ก็อาจจะไม่สามารถหยุดยั้งการดำดิ่งของราคาน้ำมันซึ่งปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรลเมื่อต้นปี มาสู่ระดับ 32 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรลในขณะนี้ และอาจจะลดลงต่อไปได้ถึงระดับ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล