โคราคะเทวี นางสงกรานต์ปีนี้

12 เม.ย. 2563 | 09:33 น.

ปีนี้วันมหาสงกรานต์ตรงกับวันจันทร์ “นางสงกรานต์” จึงมีชื่อว่า “โคราคะเทวี” ซึ่งตามตำนานเล่าว่านางเป็นธิดาองค์ที่ 2 ของท้าวกบิลพรหม

พิษโควิด-19 ส่งผลให้เทศกาลปีใหม่ไทย ในวันที่ 13-15 เมษายนปีนี้ เงียบเหงาแตกต่างทุกครั้ง ไร้ซึ่งวันหยุด ไม่มีภาพบรรยากาศคลื่นมหาชนเดินทางกลับบ้านเกิด เพื่อไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ การจัดกิจกรรมรื่นเริง เล่นน้ำสงกรานต์  เหมือนทุกปี จึงต้องใช้วิธีส่งมอบความสุขกันด้วยการ์ดคำอวยพร ทางออนไลน์แทน

โดยสงกรานต์ปีนี้เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ได้ออกประกาศสงกรานต์ ปี 2563 ว่า ปีชวด (เทวดาผู้ชาย ธาตุน้ำ) โทศก จุลศักราช 1382 ทางจันทรคติ เป็น อธิกวาร ทางสุริยคติ เป็น อธิกสุรทิน วันที่ 13 เมษายน เป็น วันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันจันทร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 5 เวลา 20 นาฬิกา 48 นาที 

 โคราคะเทวี นางสงกรานต์ปีนี้
ปีนี้วันมหาสงกรานต์ตรงกับวันจันทร์ “นางสงกรานต์” จึงมีชื่อว่า “โคราคะเทวี” ซึ่งตามตำนานเล่าว่านางเป็นธิดาองค์ที่ 2 ของท้าวกบิลพรหม

ตามคติความเชื่อนางสงกรานต์นาม “โคราคะเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดาหาร ภักษาหาร (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงธนูหรือไม้เท้า พระหัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์ เสด็จไสยาสน์ลืมเนตร มาเหนือหลังพยัคฆ์ หรือเสือ

ตามคำทำนายเกี่ยวกับนางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ ถูกทำนายเอาไว้ว่า ปีนี้งูจักเกิดมีมาก คนทั้งหลายจักเกิดเป็นพยาธิมากนัก ฝนหัวปีดี หางปีไม่ดี ข้าวกล้าลางที่ดี ลางที่ก็ไม่ดี คนเกิดวันอังคารมีเคราะห์ คนเกิดวันพุธมีโชค

เกณฑ์พิรุณศาสตร์ปีนี้ ศุกร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 600 ห่า ตกในเขาจักรวาล 240 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 180 ห่า ตกในมหาสมุทร 120 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 60 ห่า  

เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีมิถุน ชื่อวาโย (ธาตุลม) น้ำพอประมาณ พายุจัด เกณฑ์นาคราชให้น้ำ ปีนี้ นาคราชให้น้ำ 1 ตัว ทำนายว่า ฝนทราม  เกณฑ์ธัญญาหารชื่อ ปาปะ ข้าวกล้าในไร่นา จะได้ 1 ส่วน เสีย 10 ส่วน คนทั้งหลายจะตกทุกข์ได้ยากลำบากแค้น เพราะกันดารอาหารบ้าง จะฉิบหายเป็นอันมากแลฯ

จากจารึกที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม บอกเล่าเกี่ยวกับตำนานของ “นางสงกรานต์” ทั้ง 7 คน ไว้ว่า “ท้าวกบิลพรหม” หรือ “ท้าวมหาพรหม” เทพผู้สถิตอยู่บนพรหมโลกชั้นที่ 3 มหาพรหมภูมิมีหน้าที่สอดส่องดูแลมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย และพระองค์ทรงมีพระธิดา 7 องค์

ครั้งหนึ่ง “ท้าวกบิลพรหม” เกิดอยากทดสอบปัญญาของมนุษย์หนุ่มผู้หนึ่งนามว่า “ธรรมบาลกุมาร” (ผู้เป็นบุตรของเศรษฐี ที่พระอินทร์ประทานให้ลงมาจุติ) จึงเสด็จลงมาจากสวรรค์เพื่อมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ

โดยมีเงื่อนไขว่า หากธรรมบาลกุมารตอบได้ ท้าวกบิลพรหมก็จะตัดเศียรของตนเพื่อบูชาแก่กุมาร แต่ถ้าตอบไม่ได้ ท้าวกบิลพรหมจะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย

คำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมาร ก็คือ “ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหน” ด้านธรรมบาลกุมารขอเวลา 7 วันเพื่อไปหาคำตอบมาให้ท้าวกบิลพรหม ธรรมบาลกุมารคิดหาคำตอบอยู่นานแต่ก็คิดไม่ออก

จนล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารบังเอิญได้ยินนกอินทรีสองผัวเมียคุยกันเกี่ยวกับเรื่องคำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามตนเอง และวางแผนที่จะกินศพตนเองเพราะเชื่อว่าตนไม่สามารถตอบคำถามได้ ต้องถูกท้าวกบิลพรหมฆ่าตายแน่นอน ซึ่งนกอินทรีเผลอเฉลยคำตอบออกมา ธรรมบาลกุมารพอได้ฟังก็จดจำคำตอบนั้นไว้  

วันถัดมาซึ่งครบกำหนด 7 วันตามสัญญา ธรรมบาลกุมารจึงนำคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ท้าวกบิลพรหมตกใจที่ธรรมกุมารสามารถตอบได้ถูกต้อง แต่ก็ต้องทำตามคำพูดของตนเองที่เคยลั่นสัจจะวาจาไว้

หลังจากที่ “ท้าวกบิลพรหม” รู้ตัวว่าจะต้องตายโดยการตัดเศียรของตนเพื่อบูชาธรรมบาลกุมาร จึงตรัสเรียกธิดาทั้ง 7 องค์ อันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุมพร้อมกัน แล้วบอกว่าพ่อจะตัดเศียรตัวเองเพื่อบูชาธรรมบาลกุมาร แต่เศียรของพ่อนี้หากตั้งไว้บนแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้โลก หากโยนขึ้นไปบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง หากนำไปทิ้งในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง

  

ดังนั้นจึงให้ธิดาทั้งเจ็ดหาพานมารองรับเศียรของตน ไม่ให้ตกลงบนพื้นโลก หรือพื้นน้ำ หรือบนอากาศ แล้วจึงตัดเศียรตนให้นางทุงษะ ผู้เป็นธิดาองค์โตนำวางบนพาน จากนั้นนางทุงษะก็อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วเก็บรักษาไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ

จากนั้นมาทุกๆ 1 ปี ธิดาของท้าวกบิลพรหมทั้ง 7 ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเวลา 60 นาที แล้วประดิษฐานตามเดิม ในแต่ละปีนางสงกรานต์แต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์นั่นเอง แต่ละนางจะมีนาม อาหาร อาวุธ สัตว์ที่เป็นพาหนะแตกต่างกันไป

 โคราคะเทวี นางสงกรานต์ปีนี้

วันอาทิตย์ นางสงกรานต์นาม “ทุงษะเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราช ภักษาหารอุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันอาทิตย์ ชื่อ นางแพงศรี

วันจันทร์ นางสงกรานต์นาม “โคราคะเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดา ภักษาหารเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันจันทร์ ชื่อ นางมโนรา

วันอังคาร นางสงกรานต์นาม “รากษสเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังวราหะ (หมู) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันอังคาร ชื่อ นางรากษสเทวี 

วันพุธ นางสงกรานต์นาม “มณฑาเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเข็ม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันพุธ ชื่อ นางมันทะ

วันพฤหัสบดี นางสงกรานต์นาม “กิริณีเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังคชสาร (ช้าง) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันพฤหัส ชื่อ นางัญญาเทพ 

วันศุกร์ นางสงกรานต์นาม “กิมิทาเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (ควาย) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันศุกร์ ชื่อ นางริญโท

วันเสาร์ นางสงกรานต์นาม “มโหธรเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทรายพระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันเสาร์ ชื่อ นางสามาเทวี

ทุกๆปี นางสงกรานต์ จะลงมาพร้อมคำทำนาย ซึ่งในแต่ละปีนั้นนางสงกรานต์ก็จะสลับกันลงมา แต่ละนางนั้นก็จะมีคำทำนายที่แตกต่างกันด้วยนั่นเอง