8 ปัญหายอดฮิตกรอกข้อมูลรับเงินเยียวยา5พัน“เราไม่ทิ้งกัน”ผิด

12 เม.ย. 2563 | 04:59 น.

ที่ปรึกษา กรุงไทย เปิดข้อเท็จจริงกรอกข้อมูลบัตรประชาชน รับเงินเยียวยา 5,000 เราไม่ทิ้งกันผิด ใส่คำนำหน้า วันเกิดไม่ตรง เปลี่ยนชื่อใหม่ ใส่สระผิด

นายสมคิด จิรานันตรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมและกรรมการ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย  ผู้ที่เป็นเบื้องหลังการจัดทำเว็บไซด์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com โพสต์ขอความผ่านเฟสบุ๊ก Chao Jiranuntarat เพื่ออธิบายถึง 8 สาเหตุหลักของการกรอกข้อมูลบัตรประชาชนขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาทไม่ถูกต้อง ใจความว่า

รวบรวมข้อมูลบัตรประชาชนไม่ถูกต้อง

1. ไม่ต้องใส่คำนำหน้านาม เช่น นาย นาง นส ในช่องชื่อใส่แต่ชื่อครับ

2. มีหลายกรณีที่ไม่ได้ใส่วันเกิดให้เหมือนบัตรประชาชนหากในบัตรประชาชนมีวันที่ ต้องใส่วันที่ด้วยครับ โดยไม่ต้องเลือกตัวที่ไม่มีวัน หรือไม่มีวัน เดือน ถ้าบัตรมีแค่ เดือน ปี เลือกไม่มีวัน ถ้าบัตรมีแค่ปี เลือกไม่มี วัน เดือน

3. บัตรประชาชนไม่ใช่ใบล่าสุด ใช้ไม่ได้ครับ เพราะรหัสหลังบัตรจะไม่ตรง

4. มีการเปลี่ยนชื่อ แต่ไปใช้ชื่อเดิม เพราะกลัวไม่ตรงชื่อบัญชี ทำให้ไม่ตรงกับชื่อที่กรมการปกครอง

5. เรื่องการกรอก ชื่อและนามสกุลให้ถูกต้องสระแอ ไม่ใช่กรอก สระเอสองตัว สระอำ ไม่ใช่กรอก วงกลมข้างบน (keyboard บางตัวทำได้) กับสระอา วงศ์ เขียนเป็น วงค์ พาก เขียน เป็น ภาค หรือ พาค

สมคิด จิรานันตรัตน์

6. หากเป็นบัตรที่เคยแจ้งหาย ใช้ไม่ได้ครับ ใช้ได้เฉพาะบัตรใบล่าสุดที่เป็นสถานะปกติ

7. บางคนบอกชื่อ นามสกุลในทะเบียนบ้านถูก แต่ในบัตรไม่ได้ทำใหม่ ควรทำบัตรใหม่ครับ

8. ต้องแน่ใจว่าบัญชีธนาคารที่ลงทะเบียนถูกต้องถ้าเป็นบัญชีพร้อมเพย์ ต้องเป็นพร้อมเพย์ที่คู่กับบัตรประชาชน ไม่ใช่พร้อมเพย์ที่คู่กับโทรศัพท์ ถ้าบอกเป็นบัญชี ต้องมีชื่อบัญชีตรงกับชื่อที่ลงทะเบียนเท่านั้น

นายสมคิดยังโพสต์ข้อความเกี่ยวกับปัญหาโทรศัพท์ที่ใช้ในการติดต่อรับการแจ้งข้อมูลผิดพลาดว่า “ปัญหาโทรศัพท์ อาจมีบางท่านใส่เลขโทรศัพท์ไม่ครบ 10 หลัก ระบบเลยถือว่าเป็นเบอร์บ้านและไม่ได้ส่ง otp แต่จะส่งเป็นจมไปที่บ้านแทน และพอเจ้าตัวมาตรวจสอบสถานะก็หาไม่เจอ เพราะเบอร์โทรใส่ผิดตั้งแต่แรก แต่ส่วนใหญ่จะมั่นใจว่าไม่ผิดและไม่รู้ว่าตกตัวไหนไป

กรณีนี้เลยต้องถือว่าเป็นเบอร์บ้านไป และจะมาตรวจสอบที่สถานะที่ web ต้องกรอกเบอร์โทรให้ตรงกับที่กรอกมาด้วย

นอกจากนี้เขายังโพสต์อีกข้อความว่า ผมเชื่อว่าประเทศไทยมีคนที่หวังดีต่อประเทศทั้งสิ้น แต่ปัญหาหลักคือ #มีคนพูดมากกว่าทำ #คนทำไม่ได้รู้จริง #คนรู้จริงไม่ได้ทำ #ทำงานเอาผลงานแต่ไม่ได้ผลลัพท์ ทำให้งานใหญ่ๆหลายอย่างเดินหน้าได้ยาก

โดยเฉพาะหากต้องเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐหลายๆหน่วยงาน โครงสร้างการทำงานและวิธีการทำงานของภาครัฐ เหมือนการพายเรือในอ่างน้ำ ภาคการเมืองจักต้องมีวิสัยทัศน์ที่จะพาประเทศไปสู่ความรุ่งโรจน์ และจักต้องมีวิธีการในการขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรกลภาครัฐที่มีอยู่

การขับเคลื่อนเครื่องจักรกลนี้มักมีหลุมพรางซ่อนอยู่ เช่น ต้องประสานงานหน่วยงานที่โครงสร้างการขับเคลื่อนที่ซับซ้อน ไม่มีพลขับที่จะสามารถเคลื่อนองคพายพ ไม่มีหน่วยกล้าตายมีแต่ทำเพื่อความปลอดภัยของตนเองและหน่วยงาน อาจมีคนที่หวังส่วนแบ่งผลประโยชน์จากโครงการ การทำงานร่วมกับเอกชนกลัวถูกข้อครหา มีผู้เกี่ยวข้องเยอะและมักมีแนวทางที่แตกต่างกัน มีนักวิจารณ์ที่ไม่รู้จริงแต่ต้องการพูดเอามัน

จึงกล่าวได้ว่าความสามารถในการขับเคลื่อนหากเทียบกับความซับซ้อนในการขับเคลื่อนแล้ว ความซับซ้อนชนะขาด เราจึงต้องแก้ไขโจทย์ข้อนี้ก่อนคือการเพิ่มความสามารถและการลดความซับซ้อน ดังนั้น เราจึงต้องเพิ่มความสามารถโดยการดึงคนมีความสามารถเข้ามาช่วยแก้โจทย์ยากๆของประเทศซึ่งนับวันจะยิ่งยากขึ้นไปทุกที คนมีความสามารถหลายๆคนอยากช่วยเหลือ ต้องการมีบทบาททางความคิด และทางปฏิบัติโดยไม่จำเป็นต้องออกหน้า

แต่เราจะต้องหากันชนมาช่วยเขาหล่านั้น เพราะพวกนี้ไม่มีความทนทานที่จะรับแรงกดดันที่เป็นกระแสและไม่รู้จริง การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างจะต้องกระทบกับผู้ปฏิบัติงานบางส่วน การเปลี่ยนแปลงบางอย่างต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง การเปลี่ยนแปลงบางอย่างจะต้องกระทบกับผู้เล่นเดิมที่มีอิทธิพลในบางอุตสาหกรรม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนสร้างแรงสะท้อนกลับทำให้การเปลี่ยนเหล่านั้นไม่สามารถขับเคลื่อนได้เลย

โจทย์ใหญ่ของประเทศในการสร้างความสามารถทางการแข่งขัน การแก้โจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำ การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน การแก้ปัญหาด้านการศึกษา รวมทั้งการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ล้วนต้องอาศัยเทคโนโลยีด้านดิจิทัลมาช่วยได้ แต่การแก้โจทย์พวกนี้ของประเทศมีความซับซ้อนมาก เพราะ #มีคนพูดมากกว่าทำ #คนทำไม่ได้รู้จริง #คนรู้จริงไม่ได้ทำ และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากเหลือเกิน มีแต่พูดว่าจะทำแต่ไม่มีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร

หน่วยงานเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างผลงานมากกว่าหวังผลให้เกิดในระยะยาว การแก้ปัญหาเหล่านี้ต้องอาศัยพลังอย่างมากที่จะขับเคลื่อน แล้วใครกันเล่าที่จะเข้าใจมากพอและมีพลังพอที่จะขับเคลื่อน