"โควิด-19"ทุบอุตฯยานยนต์กระอัก

12 เม.ย. 2563 | 02:41 น.

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2563 หนักหนาสาหัส  เริ่มตั้งแต่ต้นปีที่ค่ายจีเอ็ม หรือ เชฟโรเลตประกาศยุติการทำตลาดและขายโรงงานในประเทศไทยให้กับเกรทวอลล์ มอเตอร์ส จากประเทศจีน  โดยคาดว่าดีลต่างๆจะสิ้นสุดภายในสิ้นปีนี้  และหลังจากผ่านพ้นความช็อกกับเรื่องของจีเอ็ม ไปไม่เท่าไหร่ โลกก็ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จนถึงทุกวันนี้ยังไม่คลี่คลาย  แถมผลกระทบต่างๆไม่ใช่แค่ในต่างประเทศ แต่ประเทศไทยก็โดนหางเลขเข้าไปเต็มๆ

 

งานนี้เลยต้องมีการทบทวน สรุปตัวเลขประมาณการผลิตกันใหม่ 


-ปรับเป้ายอดผลิตใหม่
กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเคยตั้งเป้าหมายผลิต 2 ล้านคันในปีนี้  แบ่งเป็นส่งออก 1 ล้านคัน และขายในประเทศ 1 ล้านคัน แต่พอมาเจอโควิด -19 เข้าไปตัวเลขที่ต้องปรับประมาณการในครั้งนี้ ก็ลดลงเหลือ 9.5 แสนคันสำหรับตลาดส่งออก (ปรับลง 5 หมื่นคัน) เช่นเดียวกับขายในประเทศก็ลดลงมาเหลือ 9.5 แสนคัน  (ปรับลด 5 หมื่นคัน) 


 ขณะที่ยอดผลิตรถยนต์ของไทยในปีที่ผ่านมานั้นทำได้ 2,013,710 คัน แบ่งออกเป็นผลิตเพื่อการส่งออก 1,037,164 คัน และขายในประเทศ 976,546 คัน 


-ยอดขาย Q1 ลดหนัก มีนาวูบ 50%
การปรับตัวเลขยอดผลิตดังกล่าว  สอดคล้องกับภาพรวมตลาดในประเทศที่หดตัวลง โดยตัวเลขการขาย 3 เดือนแรกของปี 2563 ทำได้ทั้งสิ้น  200,959 คัน ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขายได้ 263,549 คัน เฉพาะมีนาคมเดือนเดียวลดลงกว่า 58.4 % หรือทำยอดขายได้ 52,293 คัน 


ยอดขายที่ตกลงไปมากกว่า 50 % ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฐานในปี 2562 สูง โดยเดือนมีนาคม 2562 มียอดขายกว่า 103,164 คัน ซึ่งถือเป็นตัวเลขการขายที่สูงมาก ส่วนปัจจัยที่มาช่วยผลักและดันนั้น เป็นผลมาจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐฯ ,การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น, การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย,การประกาศเลือกตั้ง ,ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น , การท่องเที่ยวดี ,การเปิดตัวรถรุ่นใหม่,การออกอีเวนต์ใหญ่อย่างมอเตอร์โชว์ 

"โควิด-19"ทุบอุตฯยานยนต์กระอัก
หันกลับมามองถึงปัจจัยบวกของมีนาคมปีนี้  แทบจะไม่มีให้เห็น เพราะตั้งแต่ต้นปีสัญญาณเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เรื่อยมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มกระจายไปทั่วโลก ทำให้เกิดความไม่แน่นอนทั้งจากไทยและทั่วโลก ดัชนีความเชื่อมั่นต่างๆปรับตัวลดลง และแม้ว่าค่ายรถจะอัดแคมเปญ -โปรโมชัน และเปิดรถรุ่นใหม่ออกมาก็ตาม แต่ผู้บริโภคยังมีความกังวลใจและชะลอการใช้เงินออกไปก่อน  นอกจากนั้นแล้วไฟแนนซ์ยังเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากหวั่นกลัวหนี้เสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
"โควิด-19"ทุบอุตฯยานยนต์กระอัก

-โรงงานหยุดชั่วคราว
ด้วยปัจจัยเสี่ยงที่รุมเร้า ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ตัดสินใจปิดโรงงานชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่า ขาดแคลนชิ้นส่วน ,สนองนโยบายภาครัฐในการอยู่บ้านหยุดเชื้่อเพื่อชาติ แต่หลักใหญ่ใจความอีกข้อคือบรรยากาศการซื้อ - ขาย ในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในภาวะซบเซา ดังนั้นจึงถือโอกาสที่จะปิดโรงงานชั่วคราว อย่างไรก็ดียังมีบางเจ้าที่ยังไม่ปิดเนื่องจากยังมีคำสั่งซื้อ,มีชิ้นส่วนที่พร้อมอยู่แล้ว (ดูตาราง) 

"โควิด-19"ทุบอุตฯยานยนต์กระอัก
 

-หวั่นลูกค้าไม่มารับรถ
 แหล่งข่าวจากผู้ผลิตรถยนต์เปิดเผยว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ แตกต่างจากตอนน้ำท่วมใหญ่ เพราะเกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยและกินเวลาประมาณ 2 - 3เดือน แต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ผลกระทบเป็นวงกว้าง ในส่วนของประเทศไทยที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก เมื่อเกิดเหตุการณ์เข้าไปจึงเสียหายหนัก 

"โควิด-19"ทุบอุตฯยานยนต์กระอัก


ส่วนภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ประกาศปิดโรงงานชั่วคราว เพราะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน  เนื่องจากภาพรวมตลาดชะลอตัว ผู้บริโภคไม่ซื้อรถ หรือบางรายจองแล้ว แต่ยังไม่ไม่มารับรถ เลื่อนการรับออกไป ซึ่งการอนุมัติของไฟแนนซ์นั้นจะมีระยะเวลาประมาณ 2 - 3 เดือน หากลูกค้ายังไม่เข้ามาทำสัญญาต่อ ก็ต้องตัดสิทธิ์กันไป นอกจากประเด็นดังกล่าวแล้ว ยังมีปัจจัยเรื่องขาดแคลนชิ้นส่วน และ การให้ความร่วมมือภาครัฐฯในการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ 

"โควิด-19"ทุบอุตฯยานยนต์กระอัก
ด้านตัวแทนจำหน่ายรถยนต์รายใหญ่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล "พระราม 3 กรุ๊ป ฮอนด้า "โดย นายเกียรติ ตั้งตรงศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่ม บริษัท พระราม 3 กรุ๊ป ฮอนด้า จำกัด เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาลูกค้าลดลง เนื่องจากเกิดความไม่มั่นใจ ยกตัวอย่างเดือนมกราคมปริมาณคนที่เดินเข้าโชว์รูมยังปกติ พอปลายเดือนกุมภาพันธ์ยอดคนเริ่มหายไป 30% และพอกลางเดือนมีนาคม ลูกค้าหายไป 70 -80% หรือลูกค้าบางรายเลื่ิอนขอรับรถออกไปก่อน โดยกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนกว่า 30 -40% 

ขณะที่การสต๊อกรถของดีลเลอร์ ตามปกติจะอยู่ในระดับ 1 เดือน หรือยกตัวอย่าง 80 คัน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติอย่างเช่นตอนนี้ บริษัทแม่ฯก็ยืดหยุ่นโดยอาจจะสั่งเข้ามาในสัดส่วนที่ลดลงจากเดิมเท่าไรก็ก็ได้ เพื่อเป็นการบรรเทาและช่วยเหลือดีลเลอร์ไม่ให้แบกสต็อกมากจนเกินไป
"สถานการณ์ในตอนนี้ บางค่ายบางดีลเลอร์ประสบภาวะแบกสต๊อก เพราะขายรถไม่ได้ ลูกค้าชะลอการตัดสินใจ เพราะไม่มั่นใจ ในส่วนของฮอนด้าช่วง 1 -2 เดือนที่ผ่านมา ยอดขายยังดีเพราะเปิดตัว ฮอนด้า ชิตี้ ทำให้ยังมียอดส่งมอบเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งเรายืนยันว่าการปิดโรงงานของบริษัทแม่ในตอนนี้ไม่กระทบกับการขายและส่งมอบรถให้กับลูกค้าในช่วงนี้ ส่วนการตัดสินใจว่าจะเปิดหรือปิดโชว์รูมและศูนย์บริการหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่างๆว่าเป็นอย่างไร ซึ่งดีลเลอร์สามารถตัดสินใจได้เลยว่าจะเปิดหรือปิด


-เชื่อมั่นไทยจะฝ่าวิกฤต
นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ในประเทศไทยถ้าดูจากสถานการณ์และมาตรการต่างๆยังถือว่าดีกว่าหลายประเทศ ซึ่งบริษัทฯมองว่าเศรษฐกิจน่าจะฟื้นเร็วตัวกว่าช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ได้เห็นในช่วงภาวะวิกฤติครั้งนี้คือ โควิด -19 เป็นตัวกระตุ้นให้ดิสรัปชันมาเร็วกว่าที่คาดการณ์กันเอาไว้ ทำให้ทุกธุรกิจต้องมีการปรับตัวและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์