“สุภิญญา” ไม่ปลื้มนำเงินกองทุน กทปส.จ่ายค่าบริการมือถือ

11 เม.ย. 2563 | 06:21 น.

ชี้ควรนำเงินสนับสนุนทางการแพทย์ ไม่ใช่เอาเงินจากกระเป๋ารัฐ ไปให้เอกชน

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ไม่เห็นด้วยที่สำนักงาน กสทช.จะนำเงินกองทุนวิจัยวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.)ซึ่งเป็นกองทุนสาธารณะ นำไปจ่ายค่าเน็ตเพิ่ม 10GB ให้กับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่

เนื่องจากว่าผู้ใช้บริการทุกรายไม่ต้องการปริมาณอินเตอร์เน็ตจำนวนมากเว้นแต่คนทำงาน work from home หรือคนเมือง ดูคลิป หรือ ดูเน็กฟิต ต้องการปริมาณอินเตอร์เน็ตในปริมาณที่มาก ในสถานการณ์วิกฤติโควิด คนมีรายได้น้อยต้องการลดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด

“รู้ว่าทำอะไรไม่ได้ เพราะมีคำสั่งและเดินหน้าไปแล้ว ที่ออกมาโพสต์ข้อความก็เพราะเห็นว่ามีมาตรการอื่นที่ควรจะเยียวยา เช่น การลดค่าบริการรายเดือน,ให้สิทธิ์โทรฟรี เหมือนเหตุการณ์สึนามิ หรือ ยืดชำระค่าบริการ ประกาศออกไป จะได้ครอบคลุมทุกคน น่าจะเป็นมาตรการที่เหมาะสม”

อย่างไรก็ตาม หากนำเงินกองทุน กทปส.ไปชำระวิธีการวางบิลจะบริหารจัดการอย่างไร และ วิธีคำนวณอย่างไร ทุกอย่างต้องโปร่งใส และ ยึดหลักธรรมาภิบาล เพราะมีสื่อนำเสนอว่านำเงินกองทุนมาชำระถึง 3,000 ล้านบาท 

“เงินในกองทุน กทปส.ที่นำไปใช้น่าจะใช้ไปช่วยเหลือโรงพยาบาลเพื่อสู้กับโควิด เช่น ทำเทเลเมดิซีน ให้กับแพทย์และพยาบาลในช่วงนี้จะดีกว่า ไม่ใช่เอาเงินจากกระเป๋ารัฐให้เอกชน”

นางสาวสุภิญญา ยังกล่าวต่ออีกว่า ผลกระทบของโควิด อุตสาหกรรมโทรคมนาคมกระทบน้อยที่สุดและแข็งแกร่งมากที่สุดในขณะนี้ มีหลายวิธีที่จะทำแต่สำนักงาน กสทช.เลือกใช้วิธีแจกเน็ต 10GB 

 

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ บอร์ดกสทช.มีมติอนุมัติเงินสนับสนุนล็อตแรก สถานพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลภาคสนามของรัฐต่อสู้สถานการณ์ ไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID -19) จำนวน 41 แห่ง วงเงิน 344.647 ล้านบาท 

ขณะที่ เอไอเอส ใช้งบ 100 ล้านบาท ติดตั้งระบบ 5G ให้กับโรงพยาบาล 178 แห่ง  สนับสนุนระบบสื่อสาร ทั้ง AIS FIBRE, 4G, AIS Super WiFi และสมาร์ทดีไวซ์ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของโรงพยาบาล

กลุ่มทรู มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์True Smart 4G Adventure พร้อมซิม ให้ใช้งานไว ไฟ ฟรี 1 ปี