จ่อเพิ่มซอฟต์โลน อุ้มท่องเที่ยว

11 เม.ย. 2563 | 02:06 น.

รัฐเล็งเพิ่มวงเงินซอฟต์โลนให้กลุ่มท่องเที่ยวโดยเฉพาะ มากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ที่กันไว้เดิม “พิพัฒน์” เร่งสรุปความต้องการเงินของ 13 สาขาวิชาชีพท่องเที่ยวก่อนแจงรมต.คลัง ทั้งชงครม.ไฟเขียวลูกจ้าง 4 ล้านคน ในธุรกิจนี้ให้ได้รับสิทธิชดเชยประกันสังคม สทท.เผยสมาชิกร้องขอสินเชื่อรวม 1.5 แสนล้านบาท

 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าผมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้หารือร่วมกันที่กันวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟต์โลน) ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น จากเดิมที่กันวงเงินไว้ให้แล้ว1 หมื่นล้านบาท จากมาตรการซอฟต์โลน 1.5 แสนล้านบาท ภายใต้มาตรการดูแลเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา ระยะที่1 ที่ให้ธนาคารออมสิน ปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นการเฉพาะ

เนื่องจากสินเชื่อที่กันไว้ 1 หมื่นล้านบาทยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของธุรกิจท่องเที่ยว ดังนั้นผมจึงหารือภายในกับ 13 สาขาวิชาชีพท่องเที่ยว ว่าแต่ละสาขามีความเดือดร้อนอย่างไรและต้องการสินเชื่อเท่าไหร่ โดยจะขอกันวงเงินเพิ่มให้กับกลุ่มท่องเที่ยวจากซอฟต์โลนวงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่ครม.เพิ่งมีมติให้ธนาคารแห่งประเทศ ไทย ออกซอฟต์โลน เพื่อดูแลภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็เป็นเอสเอ็มอี และแต่ละบริษัทส่วนมากมีสินเชื่อเดิมอยู่กับธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว

จ่อเพิ่มซอฟต์โลน  อุ้มท่องเที่ยว

รวมไปถึงหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้ธุรกิจสามารถกู้เงินได้ อาทิ การขอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) คํ้าประกันให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวมากกว่า 40% การเร่งรัดการปล่อยซอฟต์โลนโดยเร็ว ซึ่งธุรกิจที่ไม่ได้เป็นเอ็นพีแอล ก็จะได้รับการพิจารณาที่เร็วกว่าธุรกิจติดเอ็นพีแอล ที่ก็คงต้องคุยกันยาวหน่อย เพราะการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อของธนาคารก็คงลำบาก

จ่อเพิ่มซอฟต์โลน  อุ้มท่องเที่ยว

“เราต้องการดูแลให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายเดิมอยู่ให้รอด เพราะเมื่อไวรัสคลี่คลายการท่องเที่ยวกลับมา ก็เดินหน้าธุรกิจต่อได้ทันที และจะทำให้ได้การท่องเที่ยวฟื้นตัวได้โดยเร็ว เพราะการไปสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ก็คงไม่ทันการ” 

นอกจากนี้ในการประชุมครม.วันที่ 13 เมษายนนี้ ผมจะนำข้อเสนอ ที่ 13 สาขาวิชาชีพท่องเที่ยว เรียกร้องให้ธุรกิจท่องเที่ยวทั้งระบบ อาทิ บริษัทนำเที่ยว,โรงแรม,รถขนส่ง ให้เข้าข่ายมาตรา 79/1 กรณีเหตุสุดวิสัย เพื่อให้ลูกจ้างในภาคธุรกิจท่องเที่ยวกว่า 4 ล้านคน สามารถรับสิทธิชดเชย 62% ของค่าจ้างจากประกันสังคมได้ให้ครม.พิจารณา

เรื่องนี้เป็นแพ็กเกจ หลัง

จากเมื่อสัปดาห์ก่อนได้หารือเบื้องต้นในกรณีของธุรกิจโรงแรมที่ปิดกิจการชั่วคราวโดยรัฐบาลไม่ได้สั่งปิดว่าเข้าข่ายเหตุสุดวิสัยที่ควรจะได้รับการชดเชยจากประกันสังคม 

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เผยว่าในขณะนี้สทท.ได้รวบรวมความต้องการซอฟต์โลนของ 13 สาขาวิชาชีพท่องเที่ยวที่เป็นสมาชิกของสทท. เสนอให้รมต.ท่องเที่ยวรับทราบแล้ว ซึ่งผู้ประกอบการต้องการสินเชื่อรวมกว่า 1.5 แสนล้านบาท

โดยสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัด 76 จังหวัด สมาชิกกว่า 7.6 พันรายต้องการสินเชื่อมากสุดอยู่ที่ 7.5 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยสาขาธุรกิจที่พัก ผู้ประกอบกว่า 2 หมื่นราย ต้องการสินเชื่อ 2 หมื่นล้านบาท สาขาทัวร์อินบาวด์ ผู้ประกอบการกว่า 3 พันราย ต้องการสินเชื่อราว 1 หมื่นล้านบาท

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ซอฟต์โลนวงเงิน1 หมื่นล้านบาท ที่เตรียมไว้สำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยวนั้นในหลักการ เพื่อการป้องกันความเสี่ยงจึงนำเสนอต่อคณะกรรมการของธนาคารออมสิน (บอร์ด) พิจารณาและทางบอร์ดได้เห็นชอบในหลักการแล้ว เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา  

ขั้นตอนระหว่างนี้ เจ้าหน้าที่ของธนาคารออมสินจะทยอยติดต่อลูกค้า ตามรายชื่อที่สทท.รวบรวมส่งมาแล้ว โดยอาจจะมีการขอเอกสารเพิ่มเติม และกำหนดวงเงินสินเชื่อหมุนเวียน (working capital) เป็นเวลา6 เดือน (โดยคำนวณจากค่า
ใช้จ่าย รายเดือน และ หาร 2) ผู้ประกอบการสามารถเบิกใช้วงเงินหมุนเวียนเป็นรายเดือน เพื่อให้การเบิกใช้วงเงินเป็นไปตามวัตถุประสงค์คือ เป็นสินเชื่อหมุนเวียนในช่วงที่ไม่มีรายได้หรือ รายได้ลดลงจึงไม่ให้เบิกถอนสินเชื่อเป็นเงินก้อน

จ่อเพิ่มซอฟต์โลน  อุ้มท่องเที่ยว

นายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ โฆษกพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) เผยว่า ได้เป็นตัวแทนพรรคนำมติที่ประชุมกรรมการบริหารและ ส.ส.พรรครปช. ที่เลขาธิการพรรคลงนาม มอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อสั่งการให้สำนักงานประกันสังคม พิจารณาจ่ายเงินทดแทนผู้ประกันตน มาตรา 33 จำนวน 62% (คำนวณจากฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท) ให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ครอบ
คลุมส่วนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด จนต้องหยุดกิจการทั้งหมดโดยไม่ชักช้า รวมทั้งรีบแจ้งขั้นตอนต่าง ๆ ให้ประชาชนทราบอย่างชัดเจน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมารับข้อเรียกร้องของพรรคด้วยตัวเองแล้ว  

อย่างไรก็ตามปัจจุบันการชดเชยของสำนักงานประกันสังคม รายงานตัวเลขการขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทน 7 กรณีจากกองทุนประกันสังคม ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 2.28 ล้านราย รวมเงินจำนวนทั้งสิ้น 6.28 พันบาท  เป็นการยื่นขอทดแทนการว่างงาน 1.51 แสนคน เป็นเงิน  602.7 ล้านบาท มากสุดคือขอทดแทนกรณีเจ็บป่วย 4.13 แสน ราย เป็นเงิน 2.83 พันล้านบาท จากยอดเงินสะสมของกองทุนฯรวม 2,063 ล้านล้านบาท (ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2562)

จ่อเพิ่มซอฟต์โลน  อุ้มท่องเที่ยว

สำหรับมติครม.เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563  เห็นชอบทบทวนอัตราและระยะเวลาให้ผู้ประกันตนม. 33 (มีนายจ้าง) ขอรับประโยชน์ทดแทนการว่างงานจากเหตุสุดวิสัย (รัฐสั่งปิดสถานที่-ถูกกักตัวกันแพร่เชื้อ) ทำให้ไม่มีงานทำขาดรายได้  ในอัตรา 62% (เดิม 50%) ของค่าจ้างรายวัน แต่ไม่เกิน 90 วัน  มีผลตั้งแต่ 1 มีนาคม 2563 มีผู้ประกันตนขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนจากสำนักงานประกันสังคม ทางบริการ e Service ผ่านเว็บไซต์ www.sso.go.th แล้ว 3 แสนราย นายจ้างรับรองการหยุดงาน3 หมื่นราย ซึ่งสำนักงานกองทุนฯ เร่งเบิกจ่ายให้ทันทีที่กฎหมายบังคับใช้ (รอประกาศในราชกิจจานุเบกษา) 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,565 วันที่ 12 - 15 เมษายน พ.ศ. 2563