ตลาดรถยนต์ซึม ไตรมาสแรกร่วง 24%

13 เม.ย. 2563 | 03:15 น.

ลูกค้าทิ้งเงินจอง เลื่อนรับรถ ปิดไตรมาสแรกตลาดรถยนต์ร่วง 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ด้วยตัวเลข 2 แสนคัน แถมไฟแนนซ์ที่แบกหนี้ ยิ่งต้องเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ คาดปีนี้อัตราส่วนยอดขายลดลงตํ่าสุดในรอบ 6 ปี กลุ่มชิ้นส่วนเชื่อกำลังการผลิตรถยนต์เหลือ 1.4-1.5 ล้านคัน

 

ในขณะที่ตลาดรถยนต์ปี 2562 ทำได้ 1.007 ล้านคัน และช่วงต้นปีที่ผ่านมาค่ายใหญ่ “โตโยต้า” ประเมินว่าจากพิษเศรษฐกิจ ภัยแล้ง ราคาพืชผลการเกษตรตกตํ่า และความเข้มงวดของสถาบันการเงิน จะกดให้ยอดขายรวมปี 2563 ลดลงเหลือ 9.4 แสนคัน ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่รวมปัจจัยลบใหม่คือ “การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19”

ดังนั้น โตโยต้าและค่ายรถยนต์อื่นๆ ต้องกลับไปทบทวนแผนธุรกิจใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับสัญญาณก่อนหน้านี้ที่หลายโรงงานรถยนต์หยุดการผลิตชั่วคราว ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม-พฤษภาคมนี้

สำหรับยอดขายรถยนต์ไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.63) ทำได้ 200,959 คัน ลดลง 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ถ้าไล่ตั้งแต่เดือนมกราคม 71,688 คัน กุมภาพันธ์ 68,271 คัน มีนาคม 61,000 คัน จะเห็นว่าตัวเลขการขายลดลงต่อเนื่อง และคาดว่าเดือนเมษายนนี้จะลดลงต่ำกว่า 60,000 คัน

แหล่งข่าวผู้บริหารบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายหนึ่ง เปิดเผยว่า หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่คลี่คลายโดยเร็ว จะส่งผลกระทบ ต่อหลายธุรกิจ และอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกแน่นอน เช่นเดียวกับตลาดรถยนต์ในประเทศมีโอกาสลดลง 20-30% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ทำได้ 1 ล้านคันเศษ

“ถ้าวิกฤตินี้จบเร็ว ปลายปีตลาดรถยนต์จะกลับมาฟื้นตัวได้ หรือทำยอดขายรวมถึง 8 แสนคัน ถือว่าดีมากแล้ว ในส่วนของบริษัทกำลังพิจารณาแผนงานต่างๆ และเตรียมปรับยอดขายใหม่” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ หากวัดอัตราเติบโตปีต่อปี หมายความว่ายอดขายรถยนต์ปี 2563 ที่มีโอกาสหายไป 20-30% จะเป็นอัตราส่วนที่ลดลงสูงสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2557 ที่ยอดขายลดลง 33.7% ด้วยจำนวน 8.81 แสนคัน (ปี 2556 ยังได้อานิสงส์จากโครงการรถยนต์คันแรกขายไป 1.33 ล้านคัน)

นายโกวิทย์ ว่องกลกิจศิลป์ ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เดิมทั้งปี 2563 ตั้งเป้าว่าในประเทศจะมีการผลิตรถยนต์ราว 2 ล้านคัน แต่ตอนนี้โจทย์เปลี่ยน โดยมองว่าถ้าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยืดเยื้อแน่นอน กำลังผลิตรวมน่าจะลงมาอยู่ที่ 1.4-1.5 ล้านคัน (รวมส่งออกและขายในประเทศ)

ตลาดรถยนต์ซึม ไตรมาสแรกร่วง 24%

“กว่าจะเริ่มมองเห็นสัญญาณบวกน่าจะไตรมาส 4 อย่าลืมว่าเราเจอหลายเด้ง ผลิตในประเทศกำลังซื้อตก ส่วนหนึ่งมาจากเดือนกุมภาพันธ์ ยอดส่งออกสินค้าเกษตรแทบจะเป็นศูนย์ หลังจากแต่ละประเทศล็อกดาวน์ ทุกประเทศหันไปทุ่มเท แก้ปัญหาไวรัสโควิดระบาด อีกทั้งซัพพลายเชนจากต่างประเทศ เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ที่นำเข้าจากมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และจีนสะดุด ทำให้เดือนเมษายนนี้ทุกค่ายที่ผลิตรถยนต์ต้องหยุดลงชั่วคราวก่อน” นายโกวิทย์ กล่าว

ตลาดรถยนต์ซึม ไตรมาสแรกร่วง 24%

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลาดรถยนต์ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนคือ กิจกรรมในรูปแบบโรดโชว์ หรืออีเวนต์ใหญ่ๆ ไม่สามารถจัดขึ้นได้ ทำให้แต่ละแบรนด์หันมาใช้แคมเปญเพื่อกระตุ้นยอดขาย รวมทั้งปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานในลักษณะออนไลน์มากขึ้น รวมถึง เอ็มจี ที่เพิ่งจะเปิดตัว “แซดเอส ใหม่” ผ่านการ live streaming ส่วนเป้าหมายยอดขายปีนี้คงต้องรอดูสถานการณ์ในภาพรวมก่อน แต่เบื้องต้นยังอยากได้มากกว่า 4 หมื่นคัน

นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปกติเดือนมีนาคม-เมษายน ยอดขายรถยนต์จะสูง แต่ปีนี้เจอไวรัสโควิด-19 ทำให้ตลาดสะดุด ผู้คนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอยเพราะมีความกังวลเรื่องรายได้ และลูกค้าส่วนหนึ่งขอเลื่อนรับรถออกไปก่อน เช่นเดียวกับสถาบันการเงินที่ยังเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ

ล่าสุด บริษัทปรับเป้าการขายในเดือนนี้ลดลง 50% และเตรียมประเมินสถานการณ์เดือนต่อเดือน อย่างไรก็ตามเป้าหมายทั้งปีของบริษัทยังไม่มีการปรับ เพราะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเหตุการณ์จะจบเมื่อไหร่ 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,565 วันที่ 12 - 15 เมษายน พ.ศ. 2563