ส.อ.ท.หนุนใช้ชีวมวลเผาทิ้ง ป้อนโรงไฟฟ้าชุมชนแก้PM2.5

13 เม.ย. 2563 | 12:30 น.

กลุ่มอุตฯการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท.ออกโรง หนุนจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน แต่ติงระเบียบ การจัดตั้งรับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวล ยังไม่ครอบคลุมแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ชงข้อเสนอต้องให้ความสำคัญกับชีวมวลที่เผาทิ้งกลางแจ้ง มีกลไกรวบรวมนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ควรได้รับการพิจารณารับซื้อไฟเป็นลำดับแรก

การเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้จัดทำมาตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา และปิดรับฟังความเห็นไปเมื่อวันที่  27 มีนาคม ที่ผ่านมา แต่กลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เห็นว่า การดำเนินงานจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากนั้น ยังมีช่องโหว่ ที่ควรจะมีการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ครอบคลุมการจัดตั้งทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ 1. โรงไฟฟ้าชุมชนจะใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก 2. โรงไฟฟ้าชุมชนจะมุ่งช่วยเหลือดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและใช้ประโยชน์จากของเสียจากการเกษตร 3. โรงไฟฟ้าชุมชนจะผลักดันให้ยุทธศาสตร์องค์กรผ่านแนวทางกิจการเพื่อสังคม และ 4. โรงไฟฟ้าชุมชนจะเพิ่มศักยภาพชุมชน ลดความเหลื่อมลํ้า ทางสังคม

นายธีระพล ติรวศิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ทางกลุ่มได้ประชุมร่วมกันและเห็นว่า ในร่างดังกล่าว ยังขาดการระบุหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในบางข้อ อาทิ วัตถุประสงค์ในด้านการมุ่งช่วยเหลือดูแลสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการส่งเสริมตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการนำชีวมวล ที่ถูกเผาทิ้งในพื้นที่เปิด (Open Burning) ที่เป็นปัญหาด้านฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทยมาพิจารณาก่อนเป็นลำดับแรก   

มวลจากการปลูก (Energy Crop) หรือ ชีวมวลที่เกิดจากโรงงานแปรรูปก็ตาม แต่หากมีกลไกที่จะผลักดันให้เกิดการเก็บรวบรวมชีวมวลที่ถูกเผาทิ้งและใช้เป็นเชื้อเพลิงก่อนในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เป็นลำดับแรกๆ ได้ จะส่งผลให้ชีวมวลที่ถูกเผาทิ้งในพื้นที่เปิดหมดไปได้

รวมถึงวัตถุประสงค์ในด้านการลดความเหลื่อมลํ้าทางสังคม มีความจำเป็นต้องลำดับความสำคัญ (Priority) ในการรับชีวมวล ที่เป็นผลผลิตจากชุมชนอย่างแท้จริง เป็นลำดับแรกก่อน ที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวลที่มาจากการปลูก (Energy Crop) หรือ ชีวมวล ที่เกิดจากโรงงานแปรรูป

นายธีระพล กล่าวอีกว่า จากการหารือของกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม จึงได้ส่งหนังสือถึงกกพ.ต่อร่างระเบียบดังกล่าว ใน 2 ประเด็น ได้แก่ หลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกโครงการ ควรให้โครงการต้องมีรายละเอียดแสดงกลไกที่จะผลักดันให้เกิดการเก็บรวบรวมชีวมวลที่ถูกเผาทิ้งให้นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงก่อนเป็นลำดับแรก เพื่อแสดงความเป็นไปได้ ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่เดิม จากการเผาชีวมวลในพื้นที่โล่ง (Open Burn) นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชุมชนนั้นๆ ควรได้รับการพิจารณาก่อนเป็นลำดับแรก เป็นการช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนได้อย่างยั่งยืน

 รวมถึงหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกโครงการ เสนอให้โครงการต้องมีรายละเอียด แหล่งที่มาของชีวมวล โดยโครงการที่ใช้ชีวมวลที่เป็นผลผลิตหรือของเสียจากชุมชนอย่างแท้จริง ควรได้รับการพิจารณาก่อนโครงการที่ใช้ชีวมวลจากการปลูก หรือ 
ชีวมวลที่เกิดจากโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร หากดำเนินการได้จะช่วยให้การจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างยั่งยืน

“หากโครงการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนมีกลไก เปิดทางให้ชุมชน เป็นผู้รวบรวมเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรหรือชีวมวลที่ต้องเผาทิ้ง แล้วมาขายให้โรงไฟฟ้า ก็จะ ส่งผลให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและ เป็นการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้”


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 8 ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,565 วันที่ 12 - 15 เมษายน พ.ศ. 2563

ส.อ.ท.หนุนใช้ชีวมวลเผาทิ้ง ป้อนโรงไฟฟ้าชุมชนแก้PM2.5