อีอีซีวิกฤติหนัก บีบลดผลิตไฟ กนอ.บังคับลดใช้น้ำ10%

13 เม.ย. 2563 | 08:25 น.

อีอีซี ประสบปัญหาภัยแล้งหนัก กนอ.งัดมาตรการบังคับลดใช้นํ้าลง 10% หลังขอความร่วมมือไม่ได้ผล และขอให้กฟผ.รับซื้อไฟฟ้าจาก
โรงไฟฟ้าเอกชนเท่าที่จำเป็น ขณะที่อีอีซี เร่งผันนํ้า และซื้อนํ้าจากบ่อเอกชนเติมอ่างกู้วิกฤติ

กรมชลประทาน ได้รายงานปริมาณนํ้าในอ่างเก็บนํ้าหลักของภาคตะวันออก ที่ป้อนให้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ลดลงต่อเนื่อง ปัจจุบันอ่างเก็บนํ้าหลัก ได้แก่ ดอกกราย หนองปลาไหล คลองใหญ่ บางพระ และหนองค้อ มีปริมาณนํ้าใช้งานได้รวมกันราว 56 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะมีเพียงพอใช้ไปได้กว่า 2 เดือน หรือราวต้นเดือนมิถุนายนนี้เท่านั้น

ทั้งนี้ ปริมาณนํ้าที่ลดลงดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการใช้นํ้าต่างๆ ให้ลดการใช้นํ้าลง 10% ในช่วงที่ผ่านมาไม่เห็นผล ปริมาณการใช้นํ้ากลุ่มนิคมฯ ยังสูง อยู่ในระดับ 6 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน อยู่ ล่าสุดทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ได้ออกหนังสือเตือนไปยังผู้ประกอบการในพื้นที่กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินการ 5 แห่งในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ขอให้ปรับลดการใช้นํ้าลง 10% อย่างเคร่งครัด หากรายใดไม่ดำเนินการ กนอ.จะพิจารณาใช้มาตรการ ปรับลดปริมาณการจ่ายนํ้าให้

นอกจากนี้ ทางกรมชลประทาน ยังได้ขอความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้สั่งเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าเอกชนในภาคตะวันออกเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อให้แต่ละโรงไฟฟ้าใช้นํ้าในปริมาณน้อยที่สุด

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภาคตะวันออก เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้ง ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งนำมาสู่การขอความร่วมมือลดปริมาณการใช้นํ้าของภาคอุตสาหกรรมลง 10% โดยเฉพาะในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ราว 5 นิคมฯ แต่ในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-มี.ค.63) จนถึงปัจจุบัน ปริมาณการใช้นํ้ายังไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด ยังมีการใช้นํ้าในภาครวมราว 6 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทางกนอ.จึงได้ทำหนังสือแจ้งเตือนมายังผู้ประกอบการที่อยู่นิคมฯดังกล่าวให้ปฏิบัติ
หรือถือว่าเป็นมาตรการบังคับออกมาแล้ว

อีอีซีวิกฤติหนัก บีบลดผลิตไฟ กนอ.บังคับลดใช้น้ำ10%
ที่สำคัญกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเวลานี้ จะเป็นกลุ่มโรงไฟฟ้าเอกชนภาคตะวันออก ที่ต้องลดกำลังการผลิตลง จะผลิตไฟฟ้าเท่าที่รักษาระบบความมั่นคงหรือกฟผ.เรียกให้เดินเครื่องเท่านั้น และหากเกิดกรณีผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอ กฟผ.จะส่งไฟฟ้าจากพื้นที่อื่นเข้ามาเสริมแทน เพื่อลดปริมาณการใช้นํ้าให้น้อยที่สุด

“ที่ชัดเจนที่สุดเวลานี้โรงไฟฟ้าก๊าซฯของกลุ่มจีพีเอสซีที่ชลบุรี กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ ต้องลด การผลิตลงเหลือ 200 เมกะวัตต์ และอีก 1 โรง ไม่ได้เดินเครื่อง เป็นต้น แต่หากประเมินภาพรวมโรงไฟฟ้าเอกชนภาคตะวันออก เฉลี่ยแล้วน่าจะลดกำลังผลิตลงมาราว 20%”

นายเริงชัย คงทอง รองผู้ว่า การระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผย ว่า กฟผ.จะสั่งเดินเรื่องโรงไฟฟ้าของภาคเอกชนลงมาราว 20% หรือจะรับซื้อไฟฟ้าในปริมาณไม่ตํ่ากว่า 80% ของสัญญาการรับซื้อไฟฟ้า รวมถึงโรงไฟฟ้าบางโรงไม่มีความจำเป็นหรือมีต้นทุนแพง ก็จะไม่สั่งเดินเรื่องแต่อย่างใด ซึ่งมาตรการดังกล่าวนี้ เชื่อว่าจะช่วยให้โรงไฟฟ้าที่ใช้นํ้าจากภาคเอกชนลดการใช้นํ้าลงได้กว่า 10%

ส่วนมาตรการเพิ่มนํ้าในอ่างหลักภาคตะวันออกนั้น นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่า นอกจากลดการใช้นํ้าของโรงไฟฟ้าเอกชน โดยขอความร่วมมือให้เดินระบบ Stand by หรือเดินระบบเท่าที่จำเป็น และลดการใช้นํ้าของผู้ประกอบการ ในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ได้ลง 10% แล้ว จะมีการเติมนํ้าให้ 3 อ่างหลักได้แก่ อ่างเก็บนํ้าประแสร์ จังหวัดระยอง โดย แบ่งปันนํ้า จากอ่างเก็บนํ้าประแกด จังหวัดจันทบุรี ระบายลงคลองวังโตนด และใช้ระบบสูบผันนํ้าคลองวังโตนด มาเติมอ่างเก็บนํ้าประแสร์ รวมประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร และสร้างระบบสูบกลับชั่วคราว จากคลองสะพานเพื่อสูบนํ้าในกรณีมีฝนตกในพื้นที่ มีปริมาณนํ้าประมาณ 0.15 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

รวมทั้งสูบผันนํ้าจากอ่างเก็บนํ้าประแสร์ ลงอ่างเก็บนํ้าหนองปลาไหล 0.6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และสูบผันนํ้าจากอ่างเก็บนํ้าคลองใหญ่ มาลงอ่างเก็บนํ้าหนองปลาไหลเพิ่มอีก 3 ล้านลูกบาศก์เมตร และดำเนินการซ่อมแซมระบบสูบกลับจากแม่นํ้าระยอง เพื่อสูบนํ้าในกรณีฝนตกในพื้นที่ มีปริมาณนํ้าประมาณ 0.10 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จะใช้นํ้าจากคลองนํ้าหู เพื่อช่วยลดการใช้นํ้าจากอ่างเก็บนํ้าหนองปลาไหล ประมาณ 0.05 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

อีกทั้ง สูบผันนํ้าจากอ่างเก็บนํ้าคลองหลวงรัชชโลทร จังหวัดชลบุรี 3 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายนํ้าจากอ่างเก็บนํ้านฤบดินทร จินดา จังหวัดปราจีนบุรี ลงแม่นํ้า บางปะกง สูบต่อไปที่อ่างเก็บนํ้าบางพระ ปริมาณ 0.18 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

นอกจากนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนที่อยู่ในพื้นที่อีอีซี มีความมั่นใจมากขึ้น ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเร่งเจรจาซื้อนํ้าจากแหล่งนํ้าเอกชน เข้าในระบบนํ้าของ จังหวัดชลบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา ปริมาณ 14 ล้านลูกบาศก์เมตร


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 8 ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,565 วันที่ 12 - 15 เมษายน พ.ศ. 2563

อีอีซีวิกฤติหนัก บีบลดผลิตไฟ กนอ.บังคับลดใช้น้ำ10%