เบื้องลึก พ.ร.ก.กู้เงิน1ล้านล้าน แก้ 3 วิกฤติประเทศไทย

11 เม.ย. 2563 | 02:00 น.

หลายคนยังคิดว่าการตัดสินใจออก พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ของรัฐบาลภายใต้การนำของพล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั้นเป็นการอัดฉีดเงินลงไปเพื่อแก้ปัญหา บรรเทาผลกระทบ และฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพียงอย่างเดียว

แต่เมื่อเจาะลึกลงไปในรายละเอียดของเอกสารที่หน่วยงานต่างๆ เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาจะเห็นภาพที่ชัดเจนว่าเม็ดเงิน 1 ล้านบาทที่รัฐบาลจะนำไปใช้ เพื่อแก้ปัญหา 3 วิกฤติที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

วิกฤติแรก คือวิกฤติโควิด-19”

วิกฤติที่ 2ได้แก่วิกฤติภัยแล้ง

ทั้ง 2 วิกฤติ นำสู่วิกฤติสุดท้ายนั่นก็คือวิกฤติเศรษฐกิจ

หากย้อนกลับไปดูเอกสารของสำนักงบประมาณที่เสนอให้ที่ประชุมครม.เมื่อ 9 มีนาคม 2563 พิจารณาจะเห็นภาพชัดเจนว่า มาตรการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ออกมานั้นจะครอบคลุมใน 2 เรื่องหลัก คือ การบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และปัญหาภัยแล้ง

เบื้องลึก  พ.ร.ก.กู้เงิน1ล้านล้าน  แก้ 3 วิกฤติประเทศไทย

เอกสารฉบับนี้ของสำนักงบประมาณ ระบุชัดเจนว่ามาตรการด้านการงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ หรือโควิด- 19 (COVID 19) และสถานการณ์ภัยแล้งโดยให้ทุกส่วนราชการปรับลดงบประมาณลง 10% ของงบประมาณรายจ่ายประจำ ปี 2563 หรือประมาณ 2 แสนล้านบาท จากวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำในปี 2563 จำนวน 2.39 ล้านล้านบาท

แม้ว่าข้อเสนอดังกล่าวจะได้รับเสียงสนับสนุนจากหลายฝ่าย แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ได้รับเสียงตอบรับจาก บรรดากระทรวง และหน่วยงานราชการ

สำนักงบฯจึงได้รายงานปัญหาและอุปสรรคให้ที่ประชุมครม.นัดพิเศษเมื่อวันศุกร์ที่ 3 เมษายนที่ผ่านมารับทราบ พร้อมประเมินตัวเลขใหม่ว่า หากส่วนราชการปรับลดงบประมาณลง 10% จะมีงบที่นำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท แต่ถ้าปรับลด 20% จะมีวงเงินนำมาแก้ปัญหาเพิ่ม 1.4-1.5 แสนล้านบาท

ปรากฏว่าบรรดารัฐมนตรีส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะปรับลดงบประมาณรายจ่ายลง 20% เพราะกลัวว่าจะกระทบกับแผนงานของกระทรวง

พล..ประยุทธ์ ในฐานะประธานในที่ประชุม จึงตัดสินใจให้แต่ละกระทรวงปรับลดงบประมาณลงมา 10%

ขณะที่อีกฟากหนึ่งในช่วงกลางเดือน มีนาคม ถึงต้นเดือน เมษายน 2563 กระทรวงการคลัง ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำมาตรการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นกัน แต่กลับติดล็อกเรื่องเงินที่จะนำมาใช้ จึงมีแนวคิดที่จะออกพระราชกำหนดกู้เงินขึ้นมา 1 ฉบับ กำหนดวงเงินเบื้องต้น 8 แสนล้านบาท ถึง 1 ล้านล้านบาท โดยมีตัวแปรอยู่ที่การปรับลดงบประมาณรายจ่ายประจำของแต่ละกระทรวง

แต่หลังจากประเมินแล้วเห็นว่าวงเงินที่ได้จากการปรับลดงบประมาณไม่นิ่ง กระทรวงการคลังจึงตัดสินใจผ่าทางตันเสนอให้ครม.เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา อนุมัติกรอบวงเงินในการออกพ...ให้อำนาจกระทรวง การคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท มาใช้ใน 3 แผนงานโครงการหลัก และที่ประชุมครม.ก็มีมติอนุมัติ ดังนี้

1. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไข ปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 45,000 ล้านบาท

2. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 555,000 ล้านบาท

3. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท

พล..ประยุทธ์ยํ้าในที่ประชุมครม.ไว้อย่างชัดเจนว่าเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนั้นตรงนี้ต้องนำไปใช้สำหรับการแก้ปัญหาภัยแล้งให้เกษตรกรที่กำลังได้รับความเดือดร้อนในขณะนี้ด้วย

เมื่อดูจากแผนงานของกระทรวงการคลังที่เสนอต่อที่ประชุมครม.และคำกล่าวยํ้าของพล..ประยุทธ์ ทำให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่า เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนั้น เป็นเงินกู้ที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหาและฟื้นฟู 3 วิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังถาโถมประเทศไทยอยู่ในขณะนี้

 

คอลัมน์ ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก 

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,565 วันที่ 12-15 เมษายน 2563