หลบภัยโควิด-19 ‘ศธ.’เตรียมครู สอนเด็กออนไลน์

11 เม.ย. 2563 | 02:00 น.

 

ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 นอกจากจะเป็นอันตรายต่อร่างกายและชีวิตของคนทั่วโลก กระทบต่อการประกอบอาชีพทำมาหากินตามปกติแล้ว ยังส่งผลกระทบไปอีกด้านหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ การเรียนการสอนของนักเรียน นักศึกษา ที่ไม่สามารถเป็นไปตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้เป็นปกติทุกปีได้ เพราะต้องหยุดการเรียนการสอนเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสร้าย ไม่ให้ลุกลามขยายวงไปมากกว่าที่เป็นอยู่

อย่างไรก็ตาม เพื่อรับมือกับเรื่องดังกล่าว ทำให้ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563  เรื่องการเปิดเรียนของสถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ

โดยให้สถานศึกษาทุกแห่งของรัฐและเอกชนทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งอยู่ในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 โดยให้สถานศึกษาจัดให้มีการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน สืบเนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ด้วย

สำหรับโรงเรียนเอกชนประเภทนานาชาติ ซึ่งมีกำหนดวันเปิดและปิดภาคเรียนไม่ตรงกับโรงเรียนในระบบ ให้โรงเรียนพิจารณาเปิดเรียนได้ทันที ตามความเหมาะสม แต่ต้องกำหนดรูปแบบและวิธีการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับข้อกำหนดที่ออกตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของแต่ละพื้นที่ที่โรงเรียนตั้งอยู่

ด้านการเตรียมความพร้อมในการเปิดภาคเรียน ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563  ที่เลื่อนจากเดิมในเดือนพฤษภาคมนั้น นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีนักเรียนในสังกัดเกือบ 7,000,000 คน ครูกว่า 500,000 คน และโรงเรียนอีกกว่า 3 หมื่นโรงเรียน จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องวางแผนเตรียมความพร้อม ทั้งในส่วนของครูที่ต้องเตรียมเรื่องการสอน โรงเรียนเตรียมเรื่องอุปกรณ์ สื่อการสอน และต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง โดย สพฐ.จะมีการประกาศให้รับทราบว่ามีการเปิดภาคเรียนอย่างไร

 

 

หลบภัยโควิด-19  ‘ศธ.’เตรียมครู  สอนเด็กออนไลน์


 

เลขาธิการ กพฐ.อธิบายว่า ปีการศึกษานี้  ได้เลื่อนวันเปิดภาคเรียนที่ 1 จากเดิมวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 มา เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ซึ่งในแต่ละภาคเรียนจะมีการเปิดเรียนประมาณ 4 เดือน เช่น ภาคเรียนที่ 1 เปิดเรียนตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 จากนั้นจึงเปิดเรียนต่อภาคเรียนที่ 2 ในวันที่ 1 ธันวาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 เพื่อให้ครบตามกำหนดระยะเวลา 4 เดือน

ดังนั้น จึงไม่มีการปิดเทอมภาคเรียนที่ 1 แต่จะปิดเทอมภาคเรียนที่ 2 จำนวน 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 เพื่อที่จะสามารถเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2564 ได้ตามปกติเหมือนเดิม แต่หากทางโรงเรียนต้องการให้มีวันปิดเทอมภาคเรียนที่ 1 ก็สามารถยืด หยุ่นได้ โดยอาจจัดการเรียนการสอนในวันหยุด (วันเสาร์ วันอาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์) แล้วจึงทดแทนมาเป็นวันปิดเทอมภาคเรียนที่ 1 ได้ ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลพินิจของโรงเรียน

นายอำนาจ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของเรื่องการเรียนผ่านระบบออนไลน์ จากข้อมูลการวิจัยพบว่าเด็กสามารถเรียนรู้ได้ผ่านหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นแบบพบหน้ากันโดยตรง (Face-to-face) แบบออนไลน์ หรือผ่านสื่ออื่นๆ

การเตรียมความพร้อมตอนนี้ เราได้ขอความอนุเคราะห์ไปทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขอช่องทีวี 13 ช่อง สำหรับระดับชั้นอนุบาล 1 ช่อง ระดับชั้นป.1-.6 อีก 12 ช่อง โดยใช้เนื้อหาสื่อการสอนจากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม สำหรับชั้นอนุบาล-.3 ส่วนชั้นม.4-6 จะใช้ครูของเราเองช่วยกันสอน ซึ่งตอนนี้มีครูส่งเนื้อหาการสอนเข้ามามากกว่า 100 เรื่องแล้ว และนอกจากครูของโรงเรียน สพฐ. ยังมีครูของเอกชน สนใจส่งเข้ามาร่วมด้วย

ขณะที่กำหนดการรับสมัครนักเรียนชั้น .1 และ .4 คาดว่าจะเปิดรับสมัครได้ในวันที่ 3-12 พฤษภาคม 2563 ผ่านทางระบบออนไลน์ โดยมีโรงเรียนอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีแผนรับนักเรียน แต่มีเด็กสมัครเรียนไม่ครบตามแผนหรือพอดีตามแผน กลุ่มนี้สามารถจัดห้องเรียนได้เลย ส่วนโรงเรียนที่มีเด็กสมัครเรียนเกินกว่าแผน มีอยู่ประมาณ 190 โรงเรียน เป็นโรงเรียนที่มีศักยภาพสูง ดังนั้น จึงมีการรองรับระบบออนไลน์อยู่แล้ว

เรื่องเดียวที่มีความกังวลคือ เรื่องความไม่โปร่งใส หรือไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้น ตอนนี้จึงยังไม่ตัดสินใจเรื่องการสอบ ว่าจะจัดสอบอย่างไร ต้องดูสถานการณ์ของโรคเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อน หากจัดสอบในห้องเรียนได้ก็จะใช้มาตรการการเว้นระยะห่าง (Social Distancing) เช่น ในห้องเรียนหนึ่งอาจจัดโต๊ะสอบเพียง 10-15 คน ให้นั่งห่างกัน หรือปล่อยเข้าโรงเรียนทีละ 30 คน ซึ่งหากสถานการณ์คลี่คลายขึ้นแล้ว สพฐ.จะประเมินสถานการณ์อีกครั้ง  โดยหลักการคือ ต้องสอบพร้อมกันทั้งประเทศ เพื่อป้องกันเด็กสอบหลายโรงเรียนซึ่งจะทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบมีความเหลื่อมลํ้ากัน

เลขาธิการ กพฐ. ยังชี้แจงถึงการสอบ GAT/PAT ว่า จะมีการประชุมร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อีกครั้งในวันที่ 14 เมษายนนี้ ซึ่งในที่ประชุม กพฐ. เมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่ผ่านมา ก็ได้แจ้งกับสำนักทดสอบทางการศึกษาแล้ว เบื้องต้นการสอบ GAT/PAT จะสอบในช่วงปลายปีอยู่แล้ว อาจไม่กระทบมากนัก แต่ก็ได้เตรียมจัดทำปฏิทินเพื่อให้เด็กสามารถเตรียมความพร้อมได้

 

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,565 วันที่ 12-15 เมษายน 2563