4 สมาคมค้ามันต้าน พรบ.แบ่งปันผลประโยชน์ หวั่นคู่แข่งฟ้อง WTO

11 เม.ย. 2563 | 07:55 น.

โควิดไม่ระคายส่งออกมันสำปะหลัง ตลาดจีนยังต้องการสูง แต่ติดปัญหาขนส่งยังไม่สะดวก ขณะ 4 สมาคมการค้ามัน รุมค้านร่างกฎหมายแบ่งปันผลประโยชน์ฯ อ้างทำอุตสาหกรรมระส่ำกระทบส่งออก 9 หมื่นล้าน อาจมีปัญหาคู่แข่งฟ้อง WTO ด้านเกษตรกรหนุนสุดลิ่ม

การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่กำลังคุกคามโลกอยู่ในขณะนี้ทำให้หลายประเทศปิดเมือง (ล็อกดาวน์) โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใดนั้น

นายบุญชัย ศรีชัยยงพานิช นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” จากการแพร่ระบาดของไวรัสไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทย โดยยังดำเนินการได้เป็นปกติ มีเพียงแป้งมันสำปะหลังที่ส่งออกลดลง จากการขนส่งในประเทศปลายทางมีปัญหาติดขัดจากการคุมเข้มการแพร่ระบาดของเชื้อ ในส่วนของมันเส้นไม่มีปัญหา ส่วนราคาหัวมันสำปะหลังอาจจะอ่อนตัวลงมา จากมีฝนตกลงมาทำให้เปอร์เซ็นต์เชื้อแป้งมันต่ำลงเล็กน้อย (ราคารับซื้อหัวมันสด ณ โรงแป้งมันสำปะหลัง วันที่ 3 เม.ย.63 เชื้อแป้ง 25% ราคา 1.90-2.80 บาทต่อกิโลกรัม) ไม่น่าเป็นห่วงเพราะใกล้จบฤดูการผลิตแล้ว

สำหรับสิ่งที่เป็นข้อกังวลของ 4 สมาคม ประกอบด้วย สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย และสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือในขณะนี้ สืบเนื่องจากพรรคภูมิใจไทยได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การแบ่งปันผลประโยชน์มันสำปะหลัง พ.ศ. ... ซึ่งทางเว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎรได้เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัตินี้ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2562 เป็นต้นมา

สำหรับเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องมีร่างพ.ร.บ.หรือร่างกฎหมายนี้ ระบุว่า เนื่องจากเกษตรกรผู้ปลูก แปรรูป หรือส่งมันสำปะหลังให้แก่โรงงานหรือจัดจำหน่ายมันสำปะหลังให้แก่โรงงานมีความเสี่ยงต่อการขาดทุน ทั้งจากปัญหาปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้น ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การถูกกดราคาหรือโดนเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง ปัญหาสภาวะขาดตลาดรองรับมันสำปะหลัง เป็นเหตุให้เกษตรกรมีหนี้สิน
และกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อให้กระบวนการปลูก การผลิต การแปรรูปมันสำปะหลัง การตลาด และการพัฒนาอาชีพของเกษตรกรผู้ปลูกและแปรรูปมันสำปะหลังมีความมั่นคงและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนอย่างยั่งยืนจึงต้องมีการสร้างความเป็นธรรมระหว่างเกษตรกรกับผู้รับซื้อ

4 สมาคมค้ามันต้าน พรบ.แบ่งปันผลประโยชน์ หวั่นคู่แข่งฟ้อง WTO

“4 สมาคมมองว่าร่างพ.ร.บ.นี้นอกจากจะเป็นการเข้ามาจำกัดควบคุมหลักเกณฑ์ทางการค้า สร้างขอบเขต ผูกมัด รวมทั้งเพิ่มภาระให้แก่เกษตรกรแล้วยังเป็นการลดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของผู้ประกอบการและสุ่มเสี่ยงที่จะถูกประเทศคู่แข่งขันฟ้องร้อง เช่นที่เกิดขึ้นแล้วในอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ไทยถูกออสเตรเลียและบราซิลฟ้อง WTO ว่ามีการอุดหนุนการปลูกอ้อยและการส่งออกและยังไม่สามารถหาข้อยุติได้”

ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ 4 สมาคมมันสำปะหลัง สถาบันเกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการกำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อบริหารจัดการมันสำปะหลังให้เกิดประสิทธิภาพและเหมาะสมต่อสถานการณ์ในแต่ละปีการผลิต เพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกร รักษาเสถียรภาพราคา และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทย ซึ่งมีการส่งออกมูลค่ากว่า 8-9 หมื่นล้านบาทต่อปี 

ด้านนายธีระชาติ เสยกระโทก รักษาการนายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า เกษตรกรผู้ปลูกมันสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นี้เต็มที่ ที่เป็นกังวลคือหากร่างกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ สัดส่วนของเกษตรกรในคณะกรรมการแบ่งปันผลประโยชน์มันสำปะหลังน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับสัดส่วนของข้าราชการและเอกชน หวั่นจะเป็นแค่ตรายาง

อนึ่ง ร่าง พ.ร.บ.การแบ่งปันผลประโยชน์มันสำปะหลัง มี 73 มาตรา กำหนดให้มีคณะกรรมการแบ่งปันผลประโยชน์มันสำปะหลัง มีอำนาจหน้าที่กำหนดแผนการปลูกและผลิตมันสำปะหลัง จะจัดตั้งกองทุนแบ่งปันผลประโยชน์มันสำปะหลังแบ่งปันผลประโยชน์แบบโมเดลอ้อยและน้ำตาล พร้อมกับกำหนดราคามันสำปะหลังขั้นต้นและค่าผลประโยชน์มันสำปะหลังจะต้องไม่น้อยกว่า 70% ของประมาณการรายได้ ส่วนบทกำหนดโทษ อาทิ มาตรา 60 เกษตรกรผู้ใด โรงงานหรือผู้จัดจำหน่ายมันสำปะหลังไม่ชำระค่าธรรมเนียมต้องระวางโทษไม่เกินห้าพันบาท มาตรา 65 โรงงานหรือผู้จำหน่ายมันสำปะหลังไม่รับซื้อตามราคาที่คณะกรรมการกำหนดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท เป็นต้น

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,564 วันที่ 9 - 11 เมษายน พ.ศ. 2563