นิพนธ์ เตรียมลงโคราช แก้ปัญหาภัยแล้งอีสาน

09 เม.ย. 2563 | 09:50 น.

นิพนธ์ เตรียมลงพื้นที่โคราช แก้ปัญหาภัยแล้งอีสาน เร่งรัดโครงการ ติดตามข้อสั่งการ ให้ปชช.มีน้ำอุปโภค-บริโภค-น้ำเพื่อการเกษตร

วันพรุ่งนี้(10 เม.ย.63)​ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) ในฐานะรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.)​เตรียมลงพื้นที่ที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อติดตามการเสนอโครงการและเบิกจ่ายงบประมาณแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจังหวัดนครราชสีมามีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(ภัยแล้ง) ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ 2562 ไปแล้วจำนวน 7 อำเภอ 49 ตำบล 507 หมู่บ้าน ประกอบด้วย อ.โนนสูง (8 ต. 109 ม. 1 เทศบาล 13 ชุมชน) อ.จักราช (6 ต. 53 ม.) อ.ปักธงชัย (16 ต. 179 ม.)  อ.โชคชัย (9ต. 64 ม.) อ.เทพารักษ์ (4 ต. 36 ม.)  อ.โนนไทย (1 ต. 3 ม.) อ.แก้งสนามนาง  (5 ต. 50) ให้เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งทำให้ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร

พร้อมทั้ง การติดตามการจัดทำโครงการและเสนองบประมาณเพื่อการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่แล้งอื่นอีกรวม 24 จังหวัด(ภาคอีสาน 10 จังหวัด)​ 143 อำเภอ 742 ตำบล 6,255 หมู่บ้าน และติดตามข้อสั่งการในการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2562 - 63 ซึ่งกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติได้หนังสือด่วนที่สุด ที่ มท (บกปภ) 0624 /ว 47 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 สั่งการให้ทุกจังหวัดดําเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2562-2563 แล้ว

 

1) ใช้กลไกระบบบัญชาการเหตุการณ์ตามกฎหมายและแผนว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  ในการมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มภารกิจหลัก ประกอบด้วย กลุ่มพยากรณ์กลุ่มบริหารจัดการน้ํา และกลุ่มปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ 

2) ให้สํารวจ ตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ํา โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค พร้อมทั้งกําหนดมาตรการรับมืออาทิการจัดทําแผนสํารองน้ำการหาแหล่งน้ำสํารองการขุดเจาะบ่อน้ําบาดาลในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำดิบ การขุดขยายสระพักน้ำดิบ เพื่อสํารองปริมาณน้ําในการอุปโภคบริโภค รวมถึงการสูบส่งน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงไปยังระบบการผลิตน้ําประปา และให้กําหนดพื้นที่ที่เหมาะสมเป็นพื้นที่นําร่อง การพัฒนาพื้นที่รับน้ำ (แก้มลิง) ชั่วคราว ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เป็นพื้นที่กักเก็บน้ำถาวร ตลอดจนการพิจารณาจัดทําธนาคารน้ำใต้ดินที่มีการควบคุมคุณภาพน้ำที่กักเก็บให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน มีความสะอาด ปลอดภัยเพียงพอสําหรับการใช้ประโยชน์  ฯลฯ   

โดยการติดตามการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาล โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.)​ กระทรวงมหาดไทย ที่นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มท. เป็นผู้กำกับดูแลนั้น ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า 2019(COVID-19) โดยภัยแล้งได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปากท้องของพี่น้องประชาชน ในการทำการเกษตรและการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันการแก้ภัยแล้งจะเป็นอีกกลไกหนึ่งในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนแม้สถานการณ์การแพร่ไวรัสจะยังคงอยู่ก็ตาม