แฟนธอมรุกตลาดโดรนไทย เจาะกลุ่มเกษตร-ผลิตแผนที่

10 เม.ย. 2559 | 08:00 น.
แฟนธอม เผยตลาดอากาศยานไร้คนขับ "โดรน" ไทยมาแรงเติบโตเฉลี่ยปีละ 30% เล็งขยายตลาดสู่ตลาดพาณิชย์ ทั้งอุตสาหกรรมเกษตร ผลิตแผนที่ และการตรวจตราภายในอาคาร พร้อมเปิดสโตร์ใหม่รับการเติบโต ตั้งเป้ารายได้ปีนี้ 250-300 ล้านบาท

นายชนินทร์ มโนชญากร ผู้ร่วมก่อตั้ง (Co-Founder) บริษัท แฟนธอม (ประเทศไทย) จำกัด ตัวแทนจำหน่ายอากาศยานไร้คนขับ ประเภท "โดรน" แบบติดกล้อง แบรนด์ "ดีจีไอ" เปิดเผยว่า ปีนี้ตลาดอากาศยานไร้คนขับประเภท "โดรน" ในไทยมีการเติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณ 30% โดยปีนี้คาดว่ามูลค่าตลาดจะอยู่ราว 400 ล้านบาท โดยประมาณการณ์ว่า 80% เป็นตลาดกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปหรือ คอนซูเมอร์ ที่นิยมซื้อไปใช้งานเป็นของเล่นอิเล็กทรอนิกส์ หรือ แกดเจต เพื่อเป็นงานอดิเรก

อย่างไรก็ตามปีนี้จะเริ่มเห็นการนำโดรนไปใช้งานเชิงพาณิชย์มากขึ้น ทั้งอุตสาหกรรมการเกษตร การผลิตแผนที่ หรือการตรวจตราภายในอาคาร จากเดิมกลุ่มนำโดรนเชิงพาณิชย์ อยู่ในกลุ่มธุรกิจผลิตภาพยนตร์ การถ่ายภาพ และธุรกิจสื่อเป็นหลัก

สำหรับทิศทางของบริษัทในฐานะตัวแทนจำหน่ายโดรน ติดกล้อง แบรนด์ "ดีจีไอ " ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในตลาดขณะนี้ คือ 70% ของตลาดรวม จะมุ่งขยายการทำตลาดโดรนติดกล้อง ไปยังตลาดพาณิชย์มากขึ้น โดยตลาดที่กำลังให้ความสนใจขณะนี้ คือ ตลาดที่นำโดรนไปใช้ในการสำรวจเพื่อจัดทำแผนที่ และการนำโดรนไปใช้งานสำหรับการเกษตร โดยในเดือนพฤษภาคม 2559 จะมีโดรน ดีจีไอ รุ่น Agras MG-1 ซึ่งเป็นโดรนสำหรับการพ่นยาฆ่าแมลง เข้ามาทำตลาด โดยโดรนรุ่นดังกล่าวสามารถรองรับน้ำยาฆ่าแมลงได้ 10 ลิตร

ล่าสุดได้เปิดตัวโดรน ติดกล้อง รุ่นยอดนิยม "แฟนธอม โฟร์ " (PHANTOM 4) สู่ตลาดไทยเป็นครั้งแรก โดยรุ่นดังกล่าวได้ถูกพัฒนาความสามารถเพิ่มขึ้นจาก แฟนธอม ทรี โดยมาพร้อมโหมดการบินอิสระแบบใหม่ TapFly ที่ทำให้สามารถกำหนดเส้นทาง และความเร็วในการบินด้วยการแตะสั่งงานผ่านหน้าจอ สมาร์ทดีไวซ์ ได้ และ Active Track ที่สามารถสั่งให้ติดตามคน สัตว์ หรือสิ่งของที่เคลื่อนไหวต่างๆ ได้เอง พร้อมเพิ่มความปลอดภัยด้วยการเพิ่มเซ็นเซอร์ถึง 4 ตัว โดยเป็นการเพิ่มกล้องเสริมด้านหน้ามาให้ 2 ตัว และกล้องอัลตราโซนิค 2 ตัวที่ สามารถหยุด หรือหลบหลีกจากสิ่งกีดขวางได้ นอกจากนี้กล้อง สามารถบันทึกวิดีโอขนาด 4K ที่ 30 เฟรมต่อวินาที และสามารถถ่ายวีดีโอแบบ Full HD 1080p ที่ 120 เฟรมต่อวินาที เพื่อการถ่ายแบบสโลว์โมชัน

นอกจากนี้ยังมีโครงการความร่วมมือกับภาครัฐ อาทิ การนำโดรนไปใช้สำหรับการเฝ้าระวังภัยสถานที่ท่องเที่ยวใน กทม. การนำโดรนไปใช้ในการวิจัยสัตว์ป่า การร่วมกับสถาบันการศึกษานำโดรนไปใช้สำรวจความสมบูรณ์ของพืช

นายชนินทร์ กล่าวต่อไปอีกว่าภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ แฟนธอม (ประเทศไทย) มีแผนที่จะเปิดตัว สโตร์รูปแบบใหม่แห่งแรกในประเทศไทย เพื่อเป็นโชว์รูม ศูนย์ฝึกอบรม และศูนย์บริการมาตรฐานอย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้คอนเซ็ปต์ "DJI Experience" เพื่อรองรับการขยายตัวของกลุ่มเป้าหมาย และแนวโน้มการเติบโตของตลาดโดรนติดกล้องในไทย

Photo : Pixabay

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,146 วันที่ 7 - 9 เมษายน พ.ศ. 2559