โรงกลั่นอ่วม ค่ากลั่นติดลบ มี.ค.ขาดทุนสต๊อก1.5หมื่นล.

09 เม.ย. 2563 | 00:20 น.

โรงกลั่นน้ำมันวิกฤติหนัก ค่าการกลั่นติดลบ 1-2 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เหตุราคาน้ำมันดิบดูไบร่วงหนัก ใกล้เคียงน้ำมันสำเร็จรูป พ่วงด้วยน้ำมันเครื่องบินขายไม่ออก ล้นถังไม่มีที่เก็บ ทนสู้ต้องกลั่น เพื่อความมั่นคงพลังงานให้กับประเทศ

สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ร่วงลงมาหนัก ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 เมษายน ที่ผ่านมา น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 26.08 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเบรนท์ 33.05 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ 25.01 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันเบนซิน อยู่ที่ 23.12 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล น้ำมันดีเซล 34.18 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และน้ำมันอากาศยาน 27.06 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล หลังความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จากที่หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย ออกมาตรการปิดเมือง งดการทำกิจกรรม ระงับการเดินทางและเคลื่อนย้าย เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงดังกล่าว ส่งผลให้เดือนมีนาคม 2563 กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันในประเทศทั้ง 6 แห่ง รวมกำลังผลิตกว่า 1 ล้านบาร์เรลต้องประสบกับการขาดทุนสต๊อกน้ำมันทางบัญชีไปแล้วราว 1.5 หมื่นล้านบาท จากการสำรองน้ำมันดิบตามกฎหมายที่ 6 %

นอกจากนี้ กลุ่มโรงกลั่นกำลังจะประสบปัญหาค่าการกลั่นที่เคยได้รับราว 4-5 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงตามจนถึงขั้นใกล้ติดลบแล้วในเวลานี้ เนื่องจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปปรับตัวลดลงใกล้เคียงหรือบางช่วงต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบแล้ว

โรงกลั่นอ่วม  ค่ากลั่นติดลบ  มี.ค.ขาดทุนสต๊อก1.5หมื่นล.

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมน้ำมัน เปิดเผยว่า ความต้องการใช้น้ำมันของโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีผลต่อราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ปรับตัวตามราคาน้ำมันดิบ จนมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันหรือบางช่วงต่ำกว่าด้วยนั้น ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันของโลกรวมถึงไทยแล้ว เนื่องจากค่าการกลั่นบางช่วงติดลบลงมา 1-2 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล จากปกติควรจะได้ราว 4-5 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ทำให้โรงกลั่นต้องประสบปัญหาการขาดทุนจากการนำน้ำมันดิบมากลั่น ซึ่งยังไม่รวมถึงการขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันดิบที่นำเข้ามาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 และมาส่งผลต่อการขาดทุนทางบัญชี้ในเดือนมีนาคม 2563

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าราคาน้ำมันเบนซินที่ปรับตัวลดลงต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ ส่งผลให้ค่าการกลั่นติดลบแล้ว และส่งผลให้ราคาที่จำหน่ายออกไปประสบปัญหาการขาดทุน รวมถึง น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันเตา ที่จำหน่ายในประเทศและส่งออกไป ก็ขายขาดทุน เพราะไม่มีตลาด จะมีเพียงน้ำมันดีเซลเท่านั้น ที่ยังพอขายออกไปมีกำไรบ้าง แต่เมื่อนำมาถัวเฉลี่ยกันแล้วก็ยังขาดทุนอยู่ ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ คาดว่าธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันในปีนี้จะประสบปัญหาการขาดทุนอย่างหนักแน่นอน

“ขณะนี้ทราบมาว่ากลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) อยู่ระหว่างการหาทางออก ที่จะให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะต้องดำเนินมาตรการใดบ้าง”

ส่วนมาตรการให้โรงกลั่นลดปริมาณสำรองน้ำมันดิบตามกฎหมาย 6% ลงมาเหลือ 4% นั้น ถือเป็นการช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงินและภาระดอกเบี้ยได้ระดับหนึ่ง เพราะลดสำรองน้ำมันดิบของทั้ง 6 โรงกลั่นลงไปได้ราว 866 ล้านลิตร หรือสต๊อกเพียง 1,734 ล้านลิตร จากเดิมที่ต้องเก็บ 2,600 ล้านลิตร ซึ่งช่วยลดการขาดทุนทางบัญชีลงไปได้กว่า 5 พันล้านบาท หากใช้ข้อมูลเดียวกับราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยของเดือนมีนาคม 2563

อย่างไรก็ตาม การลดปริมาณสำรองน้ำมันดิบลงเหลือ 4% ของปริมาณการค้านั้น กระทรวงพลังงาน ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมัน เพื่อไม่ให้แบกภาระต้นทุนการสำรองน้ำมันมากเกินไป ในช่วงที่ความต้องการใช้น้ำมันน้อยลง แต่มองว่า เป็นการแก้ปัญหาน้ำมันอากาศยานที่ผลิตออกมาขายไม่ได้ และไม่มีที่เก็บจนล้นถังอยู่ในขณะนี้ เมื่อปริมาณการค้าของโรงกลั่นลดลงทำให้ต้องลดปริมาณสำรองตามกฎหมายไปโดยปริยาย ซึ่งหากสถานการณ์ปกติน้ำมันเครื่องบินจะมีการผลิตถึงประมาณ 600 ล้านลิตรต่อเดือน แต่ปัจจุบันแทบจะขายไม่ออกแล้ว

ทั้งนี้ อานิสงส์จากการลดปริมาณสำรองตามกฎหมายครั้งนี้ จะทำให้โรงกลั่นมีถังว่างพอ ที่จะเลือกซื้อน้ำมันดิบคุณภาพดีในช่วงราคาถูกมาเก็บไว้ เพื่อมากลั่นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำกำไรดีในอนาคตได้

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 8 ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,564 วันที่ 9 - 11 เมษายน พ.ศ. 2563

โรงกลั่นอ่วม  ค่ากลั่นติดลบ  มี.ค.ขาดทุนสต๊อก1.5หมื่นล.